net-zero

แนะอุตสาหกรรมน้ำตาล ปรับตัวรับกระแสรักษ์โลก-ESG

    วิจัยกรุงศรี ประเมินอุตสาหกรรมน้ำตาลปี 2567-2569 พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมฯ รับกระแสรักษ์โลก หวังเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยในปี 2567- 2569 โดยเผยว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยจะหดตัว เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อการส่งออก แม้ว่าตลาดในประเทศจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและภาคท่องเที่ยว 

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568-2569 คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมจะขยายตัวได้ จากการเข้าสู่ภาวะลานีญาทำให้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับระดับราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูก ขณะที่ความต้องการน้ำตาลมีแนวโน้มขยายตัวจากแรงหนุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่จะเอื้อต่อการกระตุ้นอุปสงค์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มทั้งตลาดในประเทศและตลาดคู่ค้า 

 

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมน้ำตาลยังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยที่ยังสูง การปรับขึ้นภาษีความหวานของไทยและประเทศคู่ค้าหลายประเทศ กระแสรักษ์สุขภาพทั่วโลกที่ส่งผลต่อการลดการบริโภคน้ำตาล และความไม่แน่นอนของกฏระเบียบภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับแก้ พรบ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจกระทบต่อผลกำไรของอุตสาหกรรม


 

ทั้งนี้มุมมองวิจัยกรุงศรี ได้สรุปปี 2567-2569 คาดว่ารายได้ของธุรกิจจะกระเตื้องขึ้นตามการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลโดยรวม แต่การพึ่งพาตลาดต่างประเทศในสัดส่วนสูง ทำให้ธุรกิจยังคงเผชิญความผันผวน

โรงงานผลิตน้ำตาล

รายได้มีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของความต้องการบริโภค โดยมีปัจจัยสนับสนุน

  • กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่จะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ 
  • อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีแนวโน้มขยายตัว หลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม
  • ความกังวลเรื่องโรคระบาดที่จะยังคงกระตุ้นความต้องการใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง 
  • ความต้องการใช้เอทานอลในภาคขนส่งรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะทยอยฟื้นตัว 
  • มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 

 

นอกจากนี้ การมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (จากการใช้ผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบ) จะช่วยให้โรงงานน้ำตาลสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากการแย่งซื้ออ้อยจากชาวไร่ในราคาที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นอาจกดดันให้โรงงานน้ำตาลบางแห่งประสบภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องได้
 

ผู้ค้าน้ำตาล

  • คาดว่าผู้ค้าน้ำตาลในตลาดต่างประเทศจะยังคงได้ประโยชน์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าทั้งจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ธุรกิจท่องเที่ยว และร้านอาหาร แต่อาจมีความเสี่ยงจากทิศทางราคาน้ำตาลที่คาดว่าจะผันผวนตามภาวะอุปทานและทิศทางราคาในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการบริหารจัดการสต็อก

ชาวไร่อ้อย

  • คาดว่าผลผลิตอ้อยและค่าความหวานจะปรับดีขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ยังมีความเสี่ยงด้านราคาอ้อยที่ผันผวนตามราคาน้ำตาลตลาดโลก ขณะที่อำนาจการต่อรองด้านราคายังเสียเปรียบผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้นทั้งด้านพลังงาน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะอ้อยสด (เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อนหน้า) ซึ่งส่งผลต่อรายได้สุทธิและการตัดสินใจเพาะปลูกของเกษตรกร


ทั้งนี้วิจัยกรุงศรี ได้เสนอแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลในระยะถัดไป โดยประกอบไปด้วย 

 

  • มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอุปทานโดยเน้นการร่วมกลุ่มของเกษตรกรภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGsด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อให้มีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scales) การสนับสนุนเทคโนโลยีทั้งจากภาครัฐและโรงงานน้ำตาล การสนับสนุนระบบชลประทานเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบอ้อยในอนาคต รวมถึงการนำ BCG Model  มาส่งเสริมและช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกษตรกรมีผลกำไรเพิ่มขึ้นพร้อมกับสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบในภาคการผลิตน้ำตาล

 

  • กระแสรักษ์โลกและ ESG (Environmental, Social, Governance) โดยปรับตัวภายใต้เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มุ่งสู่การลดมลพิษโดยเฉพาะทางอากาศจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลผ่านนโยบายและเครื่องมือต่างๆ  อาทิ การสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบริหารจัดการในไร่อ้อยอย่างครบวงจร (Smart Farming) ตั้งแต่การเริ่มเพาะปลูกจนถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน การนำเครื่องจักรกลเกษตรมาใช้ทดแทนแรงงาน การรับซื้อใบอ้อยเพื่อลดการเผาอ้อย การสนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการตัดอ้อยสดเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.) การกำหนดนโยบายการรับซื้ออ้อยสดและพลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้

 

 

ที่มาข้อมูล