net-zero

คนไทยตื่น Net Zero ครึ่งปีลดปล่อยคาร์บอน 3 ล้านตัน สวนทางการใช้พลังงานพุ่ง

    สนพ. เผยคนไทยเริ่มตื่นตัวรับ Net Zero รอบครึ่งปี 2567 ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 3.1 ล้านตันสวนทางความต้องการใช้พลังงานพุ่ง 2.5% ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้า ยังมีสัดส่วนการปล่อย CO2 สูงสุดที่ 40% อยู่ที่ระดับ 48.1 ล้านตัน

จากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 2.3 % เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.6 % รวมช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิ.ย.67) GDP ของไทยขยายตัว 1.9 % มีปัจจัยหลักจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ 73 % และ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ 17.50 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ส่วนการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 2 และการอุปโภคภาครัฐบาลปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนปรับตัวลดลง

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ 65,509 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (KTOE) เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น 6.6%

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานว่า จากการใช้พลังงานดังกล่าว ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ช่วง 6 เดือนแรกของ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 2.5 % หรือลดลงราว 3.1 ล้านตัน CO2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 125 ล้านตัน CO2 โดยในภาคการขนส่ง มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงที่ 16.8% ภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.2% และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ  (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่นๆ)  มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 1.5 % ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.8%

คนไทยตื่น Net Zero ครึ่งปีลดปล่อยคาร์บอน 3 ล้านตัน สวนทางการใช้พลังงานพุ่ง

ทั้งนี้ หากพิจารณาการปล่อยก๊าซ CO2 แยกเป็นรายชนิดเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงจากทุกชนิดเชื้อเพลิง โดยเป็นจากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูป ปล่อย CO2 ลดลง 1.1% ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 0.3% และถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 7.9%

ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากนํ้ามันสำเร็จรูป มีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 43% รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วน 33% และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 24%

ส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน แยกรายภาคเศรษฐกิจพบว่า ภาพรวมมีการปล่อย CO2 ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการปล่อย CO2 ของภาคการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 34% มีการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ระดับ 41.5 ล้านตัน CO2 ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงจากการใช้นนํ้ามันสำเร็จรูป ลดลง 0.7% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง 16.4% สอดคล้องกับการใช้นํ้ามันกลุ่มดีเซล นํ้ามันกลุ่มเบนซิน และ NGV ที่ลดลง

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า มีผลต่อความต้องการใช้นํ้ามันสำเร็จรูป และ NGV ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคขนส่งลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ณ เดือนมิถุนายน 2567 มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 183,236 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีเพียง 74,998 คัน โดยประมาณ 70% เป็นประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ

ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 21% มีการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ระดับ 25.6 ล้านตัน CO2 ลดลง 16.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงในทุกชนิดเชื้อเพลิง สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 59% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 61% เนื่องจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่หดตัวในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเป็นการปล่อย ก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ (สัดส่วนการปล่อย CO2 46%) ลดลงถึง 23.6% สอดคล้องกับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 23.6% ทั้งนี้ ในส่วนของการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลง 14.2% และนํ้ามันสำเร็จรูป ลดลง 3.1%

ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่น ๆได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 น้อยที่สุดที่ 5% จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 6.7 ล้านตัน CO2 ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 สูงสุดที่ 40% มีการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ระดับ 48.1 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 9.1% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รองลงมาเป็นถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้านำเข้า/แลกเปลี่ยน พลังงานหมุนเวียน พลังนํ้า และนํ้ามัน ซึ่งการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงที่ 64% มีการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 30.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น5.0 % ส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.3% ที่ 17.2 ล้านตัน CO2 ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูป ลดลง 3.1 % ที่ 0.2 ล้านตัน

สำหรับดัชนีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงาน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 1,860 ตัน CO2 ต่อ KTOE ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,960 ตัน CO2ต่อKTOE

ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า (kWh) อยู่ที่ระดับ 0.394 กิโลกรัม CO2 ต่อ kWh ลดลง 3.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และการนำเข้าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการผลิตไฟฟ้าในประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567