net-zero

เปลี่ยน“เปลือกไข่” ให้มีคุณค่า ไม่ทิ้งเป็นขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    ภายใต้สภาวะที่ทุกคนต้องตระหนักและช่วยกันลงมือทำ เพื่อรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ที่กำลังส่งผลทั่วโลก ภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจตื่นตัว และหันมาให้ความสำคัญกับการนำหลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

ทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ และพลังงาน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญไปสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net-Zero) ไปด้วยกัน

เปลี่ยน“เปลือกไข่” ให้มีคุณค่า ไม่ทิ้งเป็นขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ โดยมีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) บนเส้นทางความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดรับตามเป้าหมาย SDGs

แผนปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่ Net-Zero ของซีพีเอฟ กำหนดกลยุทธ์ที่เป็นแนวนโยบายหลัก อาทิ ลดปริมาณของเสียสู่การฝังกลบและเผา (Zero Waste to Landfill)ให้เป็นศูนย์ ด้วยแนวคิดสร้างมูลค่าจากขยะ (Waste to Value)นำขยะมาใช้ซํ้า หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในกระบวนการผลิตของซีพีเอฟ เศษเปลือกไข่ที่เหลือจากกระบวนการผลิตจากโรงฟักไข่ชัยภูมิ (ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ) จังหวัดชัยภูมิ นำเปลือกไข่ทำโครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกรบ้านซับรวงไทร เปลี่ยนเศษเปลือกไข่เป็นปุ๋ยด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ช่วยลดขยะสู่บ่อฝังกลบ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการซื้อปุ๋ย จากการที่เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยใช้เอง เป็นประโยชน์กับเกษตรกรรอบสถานประกอบการ ประกอบกับปุ๋ยเปลือกไข่มีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพของดิน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตให้กับเกษตรกร

เปลี่ยน“เปลือกไข่” ให้มีคุณค่า ไม่ทิ้งเป็นขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากเปลือกไข่ที่เหลือในกระบวนการผลิต ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากทำปุ๋ยที่มีส่วนผสมของเปลือกไข่แล้ว ซีพีเอฟต่อยอดสนับสนุนงานวิจัยสร้างคุณค่าเพิ่มจากเปลือกไข่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนเปลือกไข่ให้กับโครงการผลิตไบโอซีเมนต์ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

โดยได้รับทุนวิจัยร่วมกับสำนักบริหารจัดการนํ้าและอุทกวิทยา และสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน นำเปลือกไข่ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อผลิตต้นแบบแผ่น Bio-Cement สำหรับการลดการซึมของนํ้าบาดาลเค็มในพื้นที่นาข้าว เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือจากอุตสาหกรรม และขยายผลการใช้ไบโอซีเมนต์เพื่อหน่วงนํ้าในแปลงนาในพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม และนํ้ากร่อย รวมทั้งจะนำไปใช้ในการพัฒนาและขยายผลไปสู่การสร้างคลองส่งนํ้าในพื้นที่การเกษตร

ผลศึกษาในเบื้องต้น พบว่าไบโอซีเมนต์ 1 กรัม สามารถกักเก็บก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ 41 กรัม และในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่าไบโอซีเมนต์ที่ได้ จะถูกนำมาพัฒนาสูตรให้สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จะนำไปผลิตปะการังเทียม หรือพัฒนาเป็นไบโอคอนกรีต ที่อาจถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บนํ้าใต้ดินต่อไป

โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก นำเปลือกไข่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต แบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ปรับดินก่อนการเพาะปลูก จากการที่คุณสมบัติของเปลือกไข่ที่ช่วยให้ดินร่วนซุย โดยในละปีมีเปลือกไข่บดเฉลี่ยที่ให้กับเกษตรกร 1,800 ตันต่อปี และในปีนี้ ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCG Decor (SCGD) สนับสนุนเปลือกไข่ในการวิจัย และพัฒนาสินค้าสุขภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ COTTO โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการนำเปลือกไข่จากโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จ.นครนายก และโรงฟักแก่งคอย จ.สระบุรี มาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม

เปลี่ยน“เปลือกไข่” ให้มีคุณค่า ไม่ทิ้งเป็นขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในด้านของธุรกิจไก่ไข่ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟทั้ง 7 แห่ง (เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา) ใช้หลัก Circular Economy บริหารจัดการของเสียในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ อาทิ ฟาร์มคอมเพล็กซ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ฟาร์มคอมเพล็กซ์จักราช จ.นครราชสีมา ฯลฯ ทำโครงการนำเปลือกไข่มาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดิน กระจายให้เกษตรกรไปใช้เพื่อการเพาะปลูก ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ (Waste to Landfill) สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567