net-zero

จาก 'ดอยตุง' สู่ 'Net Zero' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

    มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดกลยุทธ์ 'ปลูกป่า ปลูกคน' ที่ช่วยฟื้นฟูป่า 90,000 ไร่ สร้างอาชีพ 10,000 คน และลดไฟป่าได้กว่า 95% พร้อมขยายผลทั่วประเทศ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส

ประเทศไทยร่วมลงนามในความตกลงปารีสเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580 

นอกจากนี้ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30x30

โดยในวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดงานเสวนา “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024” เพื่อค้นหา "ทางรอด” ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สู่เป้าหมาย SDGSNET ZERO และ NATURE POSITIVE ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยมีผู้ทรงคุณวุติเข้าร่วมมากมาย อาทิ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกล่าวปาฐกฐาพิเศษและกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณะวิทยากรที่ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ "ตามหาคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง" และ "ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ จากทางเลือกสู่ทางรอด" 

จาก \'ดอยตุง\' สู่ \'Net Zero\' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การใช้แนวทางธรรมชาติ (Nature-Based Solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งบทเรียนนี้ได้รับการยืนยันจากการปลูกป่าบนดอยตุงที่ดำเนินงานโดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มากว่า 36 ปี

การมีป่าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะโลกต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งที่ทำให้ป่าเหล่านั้นยั่งยืนได้ก็คือชุมชนที่คอยดูแล นี่คือสองปัจจัยที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศ

 

ตลอดระยะเวลา 36 ปีของ "โครงการปลูกป่าดอยตุง" มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ฟื้นฟูพื้นที่ป่ามากถึง 90,000 ไร่ และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับประชาชนกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รวมกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

ปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้และภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชน 258,186 ไร่ และมีแผนขยายโครงการไปสู่ 1 ล้านไร่ภายในปี ค.ศ. 2027 จากป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ที่มีอยู่ในประเทศไทย

บทบาทของชุมชนในการลดปัญหาไฟป่าและ PM2.5 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าชุมชนที่ทำงานร่วมกับโครงการนั้นมีการเกิดไฟป่าลดลงจากค่าเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี เช่น ปัญหาหมอกควันและการเพิ่มพื้นที่ป่า

นอกจากนี้ หม่อมหลวงดิศปนัดดายังชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มในอนาคต การพัฒนาคาร์บอนเครดิตจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่กำลังเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล

 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อทุกด้านในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของความตกลงปารีสมีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยมีเป้าหมายให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยมีการวางกรอบนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนนี้คือการจัดทำ "ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่กำหนดกลไกทั้งในด้านภาคบังคับและส่งเสริม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน 

 

เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงต้องช่วยกันดูแล และส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช

 

ภายในงานยังพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็น "คาร์บอนเครดิต" ที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ นางปราณี ราชคมน์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

 

ขณะเดียวกันยังมีการเสวนาหัวข้อ "ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ: จากทางเลือกสู่ทางรอด" โดยตัวแทนภาคเอกชนมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน กลยุทธที่ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) นางสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ นางสุมลรัตน์ ทวีกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด 

จาก \'ดอยตุง\' สู่ \'Net Zero\' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

 

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเอกชนเพื่อนำกลยุทธความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย เป็นต้น และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมุ่งมั่นต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนควบคู่กับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solution) และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากระบบนิเวศเป็นแนวทางในการปรับตัว (Ecosystem-Based Adaptation) 

จาก \'ดอยตุง\' สู่ \'Net Zero\' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

 

อย่างไรก็ดีการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จาก อบก. โดยมีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในงานด้วย “คาร์บอนเครดิตจากการอนุรักษ์ป่าไม้” ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย

จาก \'ดอยตุง\' สู่ \'Net Zero\' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จาก \'ดอยตุง\' สู่ \'Net Zero\' ถอดบทเรียน 36 ปี ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง