net-zero

ปตท.สผ.ลุย CCSตัดสินใจลงทุน 1.44 หมื่นล.สิ้นปีนี้ กักเก็บคาร์บอน 1 ล้านตัน

    ปตท.สผ.ยันเดินหน้าโครงการกักเก็บคาร์บอน(CCS) แหล่งอาทิตย์ เตรียมตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) 1.44 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ เร่งหารือมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ หลังวงในระบุพันธมิตรร่วมทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อน

การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564–2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021– 2030) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณากลั่นกรอง ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

แผนดังกล่าวมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสาขา ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (MtCO2eq) หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 แบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศ 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7% โดยเฉพาะสาขาภาคสาขาพลังงาน ที่เน้นไปที่การอนุรักษ์พลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture andStorage: CCS) ในโครงการนำร่องแหล่งอาทิตย์

ขณะที่ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า (LT-LEDS) มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะต้องกักเก็บคาร์บอนจากโครงการ CCS ให้ได้อย่างน้อย 40 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050 และขยายเป็น 60 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ.2065
ปตท.สผ.ลุย CCSตัดสินใจลงทุน 1.44 หมื่นล.สิ้นปีนี้ กักเก็บคาร์บอน 1 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ตั้งเป้าหมายที่จะประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์(Carbon Capture andStorage: CCS) ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit CCS) มูลค่าโครงการราว 14,400 ล้านบาท ภายในปี 2024 ซึ่งได้ศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เสร็จแล้ว และจะเริ่มการพัฒนาโครงการ จนนำไปสู่กระบวนการอัดกลับคาร์บอน (1stInjection) ได้ในปี 2570 ที่คาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

รวมถึงโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่บริษัทค้นพบในประเทศมาเลเซีย ก็ได้ศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เสร็จแล้ว และจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ภายในปีนี้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเทคโนโลยี และหารือกับรัฐบาลมาเลเซีย คาดว่าจะพัฒนาโครงการแล้วเร็จและกักเก็บคาร์บอนได้ภายในปี 2572 โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 2.1ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ Arthit CCS ยังต้องการมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ด้านนโยบายและปัจจัยส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentive) ซึ่งแตกต่างจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีกฎหมายชัดเจนในการสนับสนุนเรื่องนี้ ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ในระหว่างการหารือแนวทางที่เหมาะสมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การให้เครดิตภาษีเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี การนำมูลค่าการลงทุนในโครงการ CCS มาลดภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และการนับ carbon credit เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการ CCS แหล่งอาทิตย์นี้ มีความสำคัญในฐานะโครงการนำร่อง ที่จะช่วยขับเคลื่อนและต่อยอดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในภาคอุตสาหกรรม เป็นแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานร่วมกับองค์การเพื่อความมั่นคงด้านโลหะและพลังงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOGMEC) และบริษัท อินเปกซ์ คอร์ปอเรชั่น(INPEX) ดําเนินการศึกษาศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CCS Hub) ของภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และ เหล็ก ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นการสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย LT-LEDS ต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโคงรการ CCS ในแหล่งอาทิตย์นั้น กำลังติดตามว่าทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในปี 2567 นี้ได้หรือไม่ หลังทราบว่าพันธมิตรทั้ง 2 รายที่ถือหุ้นอยู่ในแหล่งอาทิตย์จะชะลอการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่เห็นความคุ้มค่าจากการลงทุนที่โครงการมีมูลค่าสูงถึง 14,400 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมหรือมาตรการจูงใจจากภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนโครงการ ทั้งมาตรการทางภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน รวมถึงมาตรการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตในประเทศ

รวมทั้ง การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงการให้สิทธิ ในการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มิได้เป็นสารพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานเท่านั้น หรือสามารถนำคาร์บอนจากแหล่งอื่น ๆ มาอัดลงในแหล่งอาทิตย์ได้ ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ กว่าจะแล้วเสร็จคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพียงอนุมัติให้โครงการ CCS สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมายหรือพ.ร.บ. ปิโตรเลียม ที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังไม่จูงใจมากพอ