“เที่ยวบิน” เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล เที่ยวบินระยะไกลเพียงเที่ยวเดียวสามารถก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าคนทั่วไปใน 56 ประเทศจะปล่อยใน 1 ปีเสียอีก ข่าวร้าย ก็คือ การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินจะไม่ใช่เรื่องง่าย เเต่ข่าวดีก็คือ สายการบินสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้โดยการเปลี่ยนมาใช้ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF)
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หน่วยงานกลางระหว่างประเทศสมาชิกในการออกกฎระเบียบและมาตรฐานข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการบิน และความสะดวกในการเดินอากาศสำหรับการบินพลเรือน จัดการประชุมสมัชชา ICAO สมัยที่ 41 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 ให้ประเทศสมาชิกของ ICAO ร่วมกันทำให้เป้าหมายเป็นรูปธรรม ทั้งการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปี 2593 รวมถึงมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเร่งรัดให้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีอากาศยานใหม่มาใช้
แต่ว่าเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนมีส่วนประกอบอะไรบ้าง และทำไมจึงไม่ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายกว่านี้ ?
SAF คือตัวย่อของ “Sustainable Aviation Fuel” ซึ่งแปลว่า เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทหนึ่ง มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเจ็ทที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต SAF ได้แก่ น้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตรและขยะเทศบาล เช่น บรรจุภัณฑ์ และเศษอาหาร แทนที่จะนำไปฝังกลบหรือเผาทิ้ง จึงตอบโจทย์ปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างดี โดยเฉพาะเศษอาหารที่บ้านเราแก้กันไม่ตก เเละมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกจากการบินได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงเครื่องบินแบบดั้งเดิม
SAF เป็นที่สนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมการบิน โดยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในการผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ ในปี 2565 การผลิต SAF พุ่งสูงถึง 300 ล้านลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564
สายการบินทั่วโลกเริ่มมองหาแนวทางในการใช้ SAF มากขึ้น โดยมีโครงการสำคัญๆ เกิดขึ้น เช่น โครงการ Clean Skies for Tomorrow ของ World Economic Forum และ First Movers Coalition นอกจากนี้ American Society of Testing and Materials (ASTM) ได้อนุมัติ SAF แล้วกว่า 9 รายการ สำหรับการผลิตในอัตราส่วนสูงถึง 50% ผสมกับเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั่วไป
ประวัติความเป็นมาของ SAF ย้อนกลับไปถึงปี 2552 เมื่อ ASTM อนุมัติ SAF เป็นครั้งแรก โดยผลิตจากการแปลง Syngas (คาร์บอนมอนอกไซด์ผสมไฮโดรเจน) ให้กลายเป็นไฮโดรคาร์บอน ต่อมาในปี 2554 SAF ได้รับการอนุมัติให้ผลิตจากน้ำมันพืชและไขมันสัตว์
ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมการบิน
ด้วยต้นทุนที่สูงและการจัดหาวัสดุที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงส่งผลให้ในปัจจุบัน SAF ยังไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก เเละราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินปกติ 3-5 เท่า
ขณะที่การผลิต SAF ควบคู่ไปกับความต้องการไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้จุลินทรีย์ที่ได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมด้าน Metabolism ซึ่งสามารถย่อยสลายชีวมวลที่ไม่สามารถบริโภคได้ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา SAF อีก 7 ประเภทได้รับการอนุมัติ และผู้ผลิตเชื้อเพลิงและพลังงานในอุตสาหกรรมยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของสายการบิน
แนวโน้มความต้องการใช้ เชื้อเพลิง SAF ทั่วโลก
สหภาพยุโรปกำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า 2568 ให้มีสัดส่วน 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573, 37% ในปี 2583 และ 85% ในปี 2593
สายการบินที่เป็นสมาชิกของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2593 โดยระบุว่า SAF ช่วยให้สายการบินลดปล่อยคาร์บอนลงได้ 65 %
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอังกฤษ ต้องการกระตุ้นการผลิตและการใช้ SAF โดยแนะนำกฎเกณฑ์ที่ว่าเชื้อเพลิงการบินอย่างน้อย 10% จะต้องผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนภายในปี 2573 และเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกครั้งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานของ SAF ของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566
ล่าสุด สมาคมสายการบินประเทศไทย เตรียมใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในปี 2569 ให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนใช้น้ำมัน SAF 1% โดยหวังให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านนโยบายลดต้นทุน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการเดินทางของเชื้อเพลิง SAF เป็นไปได้
อ้างอิงข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง