net-zero

กรมลดโลกร้อน เร่งออก พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้ง climate fund

    กรมลดโลกร้อน เร่งคลอดกฎหมาย พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดตั้ง climate fund หนุนเอสเอ็มอี-ภาคประชาชน เผยผลประชุม COP29 บรรลุเป้าหมายการเงินใหม่

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวในวงสัมมนา “Panel Discussion: Government's Mechanisms to Achieve SDGs” ในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า สิ่งที่เราจะเร่งดำเนินการ คือ พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเป็นส่วนขับเคลื่อนให้เราบรรลุเป้าหมายได้ เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกับกฎหมายทั้งหมด

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ผนวกในเชิงสถาบัน การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และกลไกทางการเงิน โดยจะจัดตั้งเป็น climate fund เพื่อนำมาสนับสนุนให้กับเอสเอ็มอี หรือภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้ทำงานร่วมกับกรมสรรพสามิต บีโอไอ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในการประชุม COP29 ที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเป้าหมายการเงินใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้ภาคีทั้งหมดระดมทุนอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2035 ถือเป็นเป้าหมายการระดมทุนรวมทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด

โดยมุ่งหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากทุกแหล่ง ทั้งแหล่งสาธารณะและเอกชนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังขยายเป้าหมายการระดมทุนร่วมกันของประเทศพัฒนาแล้ว จาก 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ที่กำลังจะหมดเขตในปี 2025 เป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2035

“เป็นการเพิ่มพลังอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดย COP29 ได้สร้างเวทีสำหรับยุคใหม่ในการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระตุ้นความพยายามระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนประเทศที่เปราะบางที่สุดในการเดินทางไปสู่ความยั่งยืน”

สำหรับไทยได้รับเงินสนับสนุนโครงการสีเขียวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ที่จัดสัดส่วนการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนา 2 รูปแบบ ได้แก่ เงินสำหรับเตรียมความพร้อม และเงินสำหรับดำเนินโครงการต่าง ๆ

“เงินเหล่านี้จะช่วยให้ไทยขับเคลื่อนเป้าหมาย NDC โดยแบ่งเป็นสิ่งที่ประเทศทำเองได้  3.4% และสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อีก 6.7%  และต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ”

นอกจากนี้ มีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่สำคัญมากทุกคนต้องดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอย่างเชื่อมโยงกับกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกหรือการปรับตัวก็ตาม หรือจะเป็นเรื่องการเงินก็จะมีการนำมาสนับสนุน SME อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ BOI ตลาดหลักทรัพย์ กรมสรรพสามิต เพื่อจะทำให้ธุรกิจเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำที่สุดเพื่อความยั่งยืนในอนาคต