sustainability

คลังชงเก็บ “ภาษีคาร์บอน” 11 ธ.ค.นี้ ยันไม่กระทบประชาชน

    สรรพสามิต เผยคลังชงครม. 11 ธ.ค.นี้ เก็บ “ภาษีคาร์บอน” จากน้ำมัน กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน ยันไม่กระทบประชาชน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในวงสัมมนา “Panel Discussion: Government's Mechanisms to Achieve SDGs” ในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ในวันอังคารที่ 11 ธ.ค.นี้ ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ใช้น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

“ภาระภาษีโดยรวมของน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะยังคงเดิม เพียงแต่ว่า กรมฯ จะปรับสัดส่วนของภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลงบางส่วน แล้วนำภาษีคาร์บอนเข้าไปฝังไว้ในอัตราภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ทำให้การจัดเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าว ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค”

ทั้งนี้ ตามประกาศของกรมสรรพสามิต ที่เตรียมจะเสนอให้ ครม.อนุมัตินั้น จะกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนไว้ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งภาระภาษีคาร์บอนและผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิดไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับการปล่อยคาร์บอนของน้ำมันแต่ละชนิด

สำหรับน้ำมันประเภท E20 , E85 หรือ Bio ดีเซล นั้น มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนที่มาจากพืช การคิดอัตราภาษีคาร์บอน จะหักส่วนผสมของพลังงงานทดแทนออกไปก่อน ที่จะคิดอัตราภาษีคาร์บอน

นางสาวกุลยา กล่าวว่า การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอน ในโครงสร้างภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันนั้น แม้ว่า จะไม่ส่งผลถึงภาระภาษีโดยรวมของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่สูงขึ้นก็ตาม แต่จากผลการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของ World Economic Forum พบว่า ประเทศที่มีกลไกภาษีคาร์บอน ทำให้มีการลดการปล่อยคาร์บอนลงปีละ 2% ขณะที่ ประเทศที่ไม่มีกลไกนี้ กลับมีการปล่อยคารบอนเพิ่มขึ้นปีละ 3%

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้น ได้แก่

  • สวีเดนเก็บภาษีนี้อยู่ที่ 127 เหรียญ/ตันคาร์บอน  
  • ญี่ปุ่น เก็บในอัตรา 298 เยน ตั้งแต่ปี 2555
  • สิงคโปร์ จัดเก็บในอัตรา 25 เหรียญสิงคโปร์ กรณีที่ปล่อยคาร์บอนเกินกว่า 2.5 หมื่นตัน/ปี

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผูกพันข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการลดคาร์บอนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนลงถึง 1 ใน3 ของปัจจุบันในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกจากจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายต่อการช่วยกันพยุงรักษาสภาพแวดล้อมของประเทศและของโลกแล้ว ยังท้าทายต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผูกพันกับเงื่อนไขของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย