ทั้งนี้จะเป็นกรอบสำคัญที่จะนำมากำหนดทิศทางการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในช่วงปี 2567-2580 ในการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2608
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของกฟผ.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขององค์การไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เพิ่มบทบาทจากผู้ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้า (Energy Solutions Provider) เป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรภายในปี 2567 โดยพัฒนาระบบสู่ Grid Modernization เพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 2 ต่อยอดสู่การเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียวของประเทศ (National Green Energy Infrastructure Provider) ภายใน ปี 2569 เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสีเขียว และระยะที่ 3 ตั้งเป้าเป็นแกนหลักด้านพลังงานสีเขียวและพลังงานใหม่ของประเทศภายในปี 2571 โดยมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงานให้รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้ กฟผ.ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นในปี 2573 โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อพลังงานไฟฟ้าสุทธิที่ผลิตได้ (CO2 Intensity) ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564และกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุมธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา ROAD TO NET ZERO 2024 THE EXTRAORDINARY GREEN ภายใต้หัวข้อ การพัฒนาพลังงานสะอาด จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ในร่างแผน PDP 2024 มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งกฟผ.ได้เข้าไปมีบทบาทกับการส่งเสริมความมั่นคงเพื่อสนับสนุนรองรับพลังงานสีเขียว ได้แก่
1.การเพิ่มสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า (Floating Solar) การซื้อพลังงานไฟฟ้าพลังนํ้าจาก สปป.ลาว การขยาย/ปรับปรุง/เพิ่มขีดความสามารถระบบส่ง เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนจากทั้งผู้ผลิตไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งร่วมมือศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย
2.การเตรียมความพร้อมปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้ทันสมัย (Grid Modernization) โดยจะเร่งรัดการดำเนินงาน รวมถึงการใช้จ่ายเงินตามแผนการเบิกจ่ายงบประมาณที่วางไว้ ในส่วนของโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและขยายระบบส่งไฟฟ้าครอบคลุมทั้งประเทศ จำนวนโครงการทั้งสิ้น 20 โครงการทั้งระดับแรงดัน 115 kV, 230 kV, และ 500 kV
การพัฒนา Hydro-Floating Solar Hybrid เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนเดินหน้าโครงการฯ ต่ออีก 10,000 เมกะวัตต์ ใน 10 เขื่อนทั่วประเทศ
รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามาพัฒนาปรับโฉม Grid ของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydro Plant : PSH) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS)
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน พบว่า ในการดำเนินงานของกฟผ.ตามร่างแผน PDP 2042 (2567-2580) จะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 9.31 แสนล้านบาท อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 801 เมกะวัตต์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 891 เมกะวัตต์ และเขื่อนกะทูน จ.นครศรีธรรมราช กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 2,472 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 95,000 ล้านบาท
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยนํ้า (Floating Solar) ใน 14 โครงการ รวมกำลังผลิต 2,681 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 89,813 หมื่นล้านบาท( เงินลงทุน 33.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์)
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการลงทุนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงต่าง ๆ รวม 10,485 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 222,000 ล้านบาท จากปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ที่จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ และชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) กำลังผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 110,000 ล้านบาท
ขณะที่ Smart Grid เพื่อรองรับการผลิตทั้งโรงไฟฟ้าหลักและพลังงานหมุนเวียน และการใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ จะลงทุนประมาณ 4.15 แสนล้านบาทอีกด้วย
ในรายงานความยั่งยืนปี 2566 ของกฟผ.ระบุว่า กฟผ.มีแผนที่จะลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะในปี 2569 จากกำลังผลิต 2,220 เมกะวัตต์ เหลือ 1,200 เมกะวัตต์ ทำให้มีการใช้ปริมาณถ่านหินลดลงจากเดิมที่ใช้ประมาณปีละ 14-15 ล้านตัน เหลือเพียง 6-7 ล้านตัน และยกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี 2592
อีกทั้ง มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบ Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2583 เพื่อลดผลกระทบจากการปลดปล่อยคาร์บอนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังปลดออกจากระบบในอนาคต เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าสูบกลับ รวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล
อีกทั้ง กฟผ. ตั้งเป้าเพิ่มแหล่งดูดซับ กักเก็บคาร์บอน จากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในการปลูกป้าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชนและป่าเศรษฐกิจ รวม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574
ข่าวที่เกี่ยวข้อง