sustainability

กฎหมายและกฎระเบียบด้านความยั่งยืนของ EU ความท้าทายภาคธุรกิจไทย

    สหภาพยุโรป (European Union: EU) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการด้าน Climate Change และเป็นภูมิภาคที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่จริงจังและเข้มข้นที่สุดในโลก

EU มีความมุ่งหมายว่าการออกมาตรการภาคบังคับต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการด้าน Climate Change ได้อย่างรวดเร็วและมีความแน่นอน ถือเป็นต้นแบบของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ต่อมาประเทศอื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน

กฎหมายและกฎระเบียบด้านความยั่งยืนของ EU ความท้าทายภาคธุรกิจไทย

กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ของ EU มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ Regulations ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ใช้ร่วมกัน (Common rules) โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายสำหรับทุกประเทศสมาชิกใน EU และในรูปแบบ Directives ที่แต่ละประเทศสมาชิกของ EU จะต้องออกกฎหมายเฉพาะของประเทศ หรือ National laws ตามกรอบแนวทางหลักที่ EU กำหนด นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบในรูปแบบ Decisions Recommendations และ Opinions อีกด้วย

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้ออกนโยบายหลักที่ชื่อ “EU Green Deal” เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นทวีปแรกของโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่ EU ใช้คำว่า “Climate Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 มีองค์ประกอบที่สำคัญ 8 ด้าน และมีการกำหนดทิศทาง/แนวนโยบายภายใต้องค์ประกอบแต่ละด้าน อาทิ

การยกระดับและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ EU ในปี 2030 และปี 2050 ให้เข้มงวดมากขึ้น การออกกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ การปฏิรูปนโยบายโดยนำกลไกทางการเงินมาประยุกต์ใช้ เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ที่กำหนดราคากับ "การปล่อยคาร์บอน" ให้เกิดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า EU ETS

การออกกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (European Climate Law) ฉบับแรกของ EU ในปี 2021 โดยมีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน คือ EU จะเป็นทวีปแรกของโลกที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลง 55% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยของปีฐานปี 1990 จึงเป็นที่มาของชุดมาตรการที่ชื่อ “Fit for 55 Package” นั่นเอง

การพัฒนากลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศใน EU ที่มีการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ และทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และนำสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกลับเข้ามายัง EU ที่เรียกกันว่า “Carbon Leakage”

การออกยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โดยครอบคลุมทั้งภาคการลงทุน ภาคประกัน ภาคธุรกิจ ภาคเมือง และภาคประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่มีประสิทธิภาพการขยายกำลังผลิตพลังงานสะอาด ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

รวมถึงการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (clean and circular economy) การออกนโยบาย “Sustainable and Smart Mobility” และออกกฎระเบียบเฉพาะสำหรับการคมนาคมแต่ละรูปแบบ อาทิ Alternative Fuels Infrastructure Regulation เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก

ReFuel EU Aviation เพื่อส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และ New Urban Mobility Framework เพื่อจัดทำแผนการเดินทางอย่างยั่งยืนในเมืองใหญ่ทั้งหมด ภายในปี 2025 เป็นต้น

กฎระเบียบที่ยกตัวอย่างภายใต้ EU Green Deal นี้ เป็นการฉายภาพถึงแนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนของ EU ในอนาคต รวมถึงความสัมพันธ์และผลที่อาจกระทบกับธุรกิจไทย และยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอีกด้วย

บทความโดย  : Baker McKenzie Sustainability Group