สัปดาห์หน้า เงินบาทยังแข็งค่าต่อในกรอบ 32.10-32.70 บาท

28 ก.ย. 2567 | 05:02 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 05:03 น.

KBANK มองค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า แข็งค่าต่อเนื่อง เคลื่อนไหวในกรอบ 32.10-32.70 บาทต่อดอลลาร์ หลังแข็งค่าสุดรอบ 31 เดือนแตะ 32.36 บาทสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 33.00 และ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ไปทำสถิติแข็งค่าสุดที่ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน นับตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. 65 

สำหรับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (30 ก.ย.- 4 ต.ค.) ธนาคาร กสิกรไทย (KBANK) มองกรอบที่ระดับ 32.10-32.70 บาท/ดอลลาร์ จากวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. 67 ปิดตลาดที่ 32.39 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

สวนทาง Sentiment ของเงินดอลลาร์ ที่ยังอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า  โดยตลาดประเมินว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆไป

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการส่งสัญญาณติดตามดูแลสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่

  • รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนส.ค. ของธปท.
  • ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
  • ทิศทางเงินทุนต่างชาติ
  • สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก
  • สกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่

  • ดัชนี PMI และ ISM ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน
  • ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.ย.
  • ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS)
  • ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค.
  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน