หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ ดร.นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ได้กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมของไทย กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความเสี่ยงทั้งภัยนํ้าท่วมและภัยแล้ง
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ จากภัยพิบัติที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรม เผชิญคือ ความเสี่ยงนํ้าท่วมในพื้นที่ภาคกลาง และความเสี่ยงขาดแคลนนํ้าในพื้นที่ EEC
นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคกลางได้รับบทเรียนสำคัญจากมหาอุทกภัยปี 2011 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวม 1.43 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยความเสียหายจากนํ้าท่วมที่ทำลายทรัพย์สิน รวมถึงการประมาณการความสูญเสียรายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยผลกระทบกว่า 70% เกิดขึ้นกับภาคการผลิต
ในขณะที่พื้นที่ EEC มีความท้าทายในเรื่องของความสมดุลนํ้า และมีความเสี่ยงที่ปริมาณนํ้าต้นทุนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการนํ้าในอนาคต จากแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในปี 2037 พื้นที่อุตสาหกรรมในเขต EEC มีแผนขยายเพิ่มขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบจากปี 2017 การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนี้
นำมาซึ่งความต้องการนํ้าที่เพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นจาก 2,419 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปี 2017 เป็น 3,089 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2037 ในทางกลับกันปริมาณนํ้าต้นทุนในพื้นที่ EEC อยู่ที่ 2,539 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2017 เห็นได้ว่าความต้องการนํ้าในอนาคต จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปริมาณนํ้าที่มี นับเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการในอนาคต
ทั้งนี้ มาตรการในการรับมือในปัจจุบัน เน้นไปที่การเพิ่มอุปทานนํ้าในพื้นที่ ผ่านโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งนํ้าเพื่อเพิ่มความจุ รวมถึงการเชื่อมโครงข่ายนํ้าเพื่อผันนํ้าจากพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ผ่านการก่อสร้างท่อส่งนํ้าเพิ่มเติม โดยมีแผนการเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุนทั้งหมด 872 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2037
ดังนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ EEC มีความเสี่ยงอย่างมากต่อความมั่นคงของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกรวน ภาคอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคกลาง จำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรม ผ่านการจัดโซนนิ่งที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วม และส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่เสี่ยง
พร้อมทั้งสนับสนุนการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่นอกเขตภาคกลางและ EEC เพื่อลดความตึงเครียดของทรัพยากรที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ ในการดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไปสู่พื้นที่ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยในระยะยาว
อีกทั้ง พื้นที่ EEC ต้องมุ่งเน้นการลดความต้องการนํ้า แทนที่มาตรการเพิ่มอุปทานนํ้าในปัจจุบัน โดยการใช้นโยบายด้านราคานํ้าที่สะท้อนต้นทุนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากอัตราค่าสูบนํ้าจากแหล่งนํ้าชลประทานเพื่อใช้นอกภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.5 บาท/ลบ.ม. ยังต่ำกว่าต้นทุนนํ้าชลประทานจริงที่ 1.26 บาท/ลบ.ม. และต่ำกว่าราคาเงา (ราคาที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม) ที่ 1.49 บาท/ลบ.ม.
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคานํ้าให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลดการใช้นํ้าดิบ และหันมาใช้นํ้ารีไซเคิลมากขึ้น โดยต้องควบคู่กับการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีนํ้ารีไซเคิล และส่งเสริมความรู้การประหยัดนํ้า
สุดท้าย ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างการผูกขาดของผู้ให้บริการส่งนํ้าใน EEC เพื่อลดผลประโยชน์ส่วนเกินที่ตกอยู่กับผู้ให้บริการรายเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง