เราเคยสังเกตหรือไม่ว่า ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และตอนนี้วิกฤติโควิท-19 จะเห็นว่าประเทศต่าง ๆ พยายามยัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Quantitative Easing (QE) เป็นนโยบายทางการเงินอย่างหนึ่ง แปลภาษาไทยคือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เป็นนโยบายทางการเงินที่ถูกใช้โดย ธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อช่วง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 ต่อมายุโรป จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศก็ใช้ และบางประเทศก็ยัดเงินเข้าสู่มือประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทางอ้อมผ่านให้บริการต่าง ๆ หรือค่าสาธารณูปโภคฟรี หรือไม่ก็ยัดเงินเข้าสู่มือประชาชนโดยตรง อาจเป็นเงินสดหรือคูปองก็แล้วแต่ อาทิ ใต้หวัน ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ แต่สิ่งที่เรามักจะเห็นที่เขาทำคล้าย ๆ กัน คือ ทำเป็นโครงการระยะสั้น อาจจะสามเดือน และให้คนที่มีรายได้น้อย (บางประเทศให้ทุกคนเท่าๆ กัน บางประเทศให้ทุกคนแต่ไม่เท่ากัน และบางประเทศให้บางกลุ่ม)
ประเทศเราก็เพิ่งมีโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ไปแล้วหลายระลอกแล้ว แจกแล้ว แจกอีก …. ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร และได้ผลจริงคุ้มค่าเงินที่ใส่ลงไปหรือไม่ ยังถกเถียงกันไม่หยุด และยังคิดว่าจะออกมาอีกระลอก ตอนแรกกะว่าจะแจกคนละสองพัน เดือนละพันบาทสองเดือน แจกแค่สองเดือน ทำให้รู้ว่าเป็นโครงการระยะสั้นเหมือน “ชิม ช้อป ใช้” ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย แต่ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะที่เครื่องยนต์อื่น ๆ ดูดับสนิทนั้น มาตรการกระตุ้นเครื่องยนต์การใช้จ่ายในประเทศดูเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความหวังสุดท้ายที่ไม่ให้เศรษฐกิจถอยลงลึกให้หุบเหวของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงหาทางที่จะให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแบบชั่วคราว (transitory shock) คือ เงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้ง ไม่ใช่การให้แบบถาวร
เพื่อไม่ให้รัฐถูกกระแนะกระแนว่าเป็นแต่แจกเงิน สร้างนิสัยไม่ดีและสอนให้ประชาชนงอมืองอเท้า ดังนั้น บางคนก็เสนอให้เพิ่มเงินชั่วคราวโดยคืนเงินประกันต่าง ๆ ที่รัฐวิสาหกิจเก็บจากประชาชนให้คืนประชาชน เช่น ค่าประกันหม้อแปลงไฟฟ้า หรือมิเตอร์น้ำ ฯลฯ และแน่นอนว่า รัฐบาลก็หวังว่าการทำให้เงินเหลือหรือเอาเงินยัดใส่มือประชาชนนี้จะช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และผลตามมาก็คือ คนขายของก็ขายได้มากขึ้น เศรษฐกิจก็พอพยุงกันไปได้ ไม่ต้องไล่คนงานออก หากเศรษฐกิจแย่จริง ๆ มาตรการนี้ก็คงบรรเทาให้ปัญหาเบาบางลงได้บ้าง แต่ประเด็นว่า มนุษย์ทุกคนพอมีเงินเพิ่มขึ้นในมือ เขาจะใช้จ่ายมากน้อยต่างกัน ซึ่งการศึกษาในหลาย ๆ ประเทศพอบอกให้รู้ว่า การที่ทำให้คนมีเงินเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าเขาจะใช้จ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ รายได้ที่มีอยู่ ประเภทของเงินที่ได้มา ได้มาแบบคาดฝันหรือไม่ และอื่น ๆ อีกมาก
ว่าด้วยรายได้-การบริโภค
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ Permanent Income Hypothesis (PIH) ของ Milton Friedman แบ่งรายได้ออกเป็นสองประเภท คือ รายได้ถาวร (Permanent income) และรายได้ชั่วคราว (Transitory Income) รายได้ถาวรก็คือรายได้ที่หาได้จากความสามารถของเราเอง เช่น เงินเดือน ค่าแรง ถือว่าเป็นรายได้ระยะยาว อย่างน้อยก็หลาย ๆ ปี ส่วนรายได้ชั่วคราว เป็นรายได้ที่ได้มาเป็นครั้งเป็นคราว เช่น โบนัส ถูกหวย หรือมีคนให้ฟรี ๆ ฯลฯ และการบริโภคของคนจะบริโภคตามรายได้ถาวร หากมีรายได้ชั่วคราวเปลี่ยนแปลง คนจะเฉลี่ยรายได้ออกเป็นระยะยาวและจะบริโภคตามสัดส่วนรายได้ที่ยืดออกมาใหม่
แต่ในสภาพของข้อเท็จจริงที่หลาย ๆ การศึกษาพบข้อเสนอที่อาจแตกต่างและดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับแนวคิดของ Keynes ที่เชื่อว่าการบริโภคเปลี่ยนแปลงตามรายได้ หรือ Marginal Propensity to Consume (MPC) ที่ว่า หากรายได้เปลี่ยนแปลงไปนั้น จะทำให้การบริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็มีการนำเอา PIH มาวิเคราะห์ร่วม โดยเชื่อว่าแนวคิดของ Keynes สามารถอธิบายการบริโภคในระยะสั้นได้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรายได้ชั่วคราว เช่น การกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นมากและทันที ผ่านมาตรการต่าง ๆ ประเภทแจกเงินฟรี หรือการให้เงินเพิ่มในระยะสั้น ๆ จะแจกแบบไหนก็แล้วแต่ แต่เป็นการแจกระยะสั้น ๆ ซึ่งหลายรัฐบาลก็นำมาใช้หลายครั้ง ซึ่งต้องมีอะไรดีบ้างไม่งั้นใครจะใช้
ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เครื่องยนต์อื่นเดินไม่ได้และต้องหวังพึ่งตัวการบริโภคภาคเอกชนในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ ดังนั้น การเอาเงินใส่มือประชาชนเพื่อให้ไปจับจ่ายใช้สอยหล่อเลี้ยงหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจนั้น ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณนั้นด้วยว่าสามารถเพิ่มการบริโภคของประเทศมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมเลยลองไปส่องการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คน ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเงินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างคาดไม่ถึงในระยะสั้น (Unanticipated Transitory income) กับการบริโภค ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กันตามที่รู้ ๆ กัน แต่ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพในด้านนโยบายนั้นมีมากกว่าแค่เอาเงินโปรยลงไปในระบบเท่านั้น แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ
1. รายได้ที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว (transitory income) มีผลทำให้การใช้จ่ายของคนนั้นเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของรายได้พิเศษที่เพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Marginal Propensity to Consume (MPC) และเพิ่มมากขึ้นในส่วนของรายได้ที่ไม่คาดฝัน (Unanticipated Transitory income) เรียกว่าเงินที่ได้มาแบบฟลุ๊ค ๆ หรือไม่คาดฝัน เป็นครั้งคราวก็ตาม คนจะใช้จ่ายในสัดส่วนที่สูงมากกว่ารายได้ประจำ คิดง่าย ๆ เงินแจกฟรี เราจะใช้เยอะ อย่างกรณีกรณีโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ผ่านมา แจกฟรี 1,000 บาท และได้เงินคืน 15% และ 20% หากใช้จ่ายส่วนที่เกินนั้นตามจำนวนการใช้จ่าย ผลปรากฏว่ามีคนใช้ 1000 บาทแรกหมดในเวลารวดเร็ว แต่ส่วนเกินนั้นมีคนใช้เงินตัวเองจำนวนน้อยมาก เรียกว่ารัฐเอาเงินล่อเพื่อต่อเงินออกจากกระเป๋าคนไทยได้ยากจริง ๆ แต่เงินฟรีที่แจก คนใช้จนหมด
2. นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าการใช้จ่ายที่เพิ่มจากรายได้ฟรี ๆ นั้น ไม่เพิ่มเฉพาะตอนที่ได้เงินเพิ่มเท่านั้น พอเงินที่ได้มาแบบฟลุ๊คหรือฟรีหมดลง แม้ว่าการใช้จ่ายจะลดลง แต่ยังก็สูงกว่าระดับการใช้จ่ายตอนแรกที่ไม่มีเงินฟลุ๊ค ๆ เข้ามา (Jeanne Commault, Economics Department, ´Ecole Polytechniqu, France 2017) เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าการใช้จ่ายของคนนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นกับรายได้ที่มีตอนนั้น ๆ รวมทั้งความเคยชินของการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา แสดงว่าพฤติกรรม “จมไม่ลง” (Bunn, Roux, Reinold & Surico 2016)
3. คนมีรายได้น้อยจะใช้เงินที่ได้เพิ่มในสัดส่วนที่มากกว่าคนที่มีรายได้สูง ซึ่ง Jeanne (2018) ได้ศึกษาข้อมูลของสหรัฐฯ และ Agrawal และ Qian (2014) ใช้ข้อมูลของนโยบายแจกเงินฟรีให้กับประชาชนของสิงค์โปร์ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ได้ผลเหมือน ๆ กัน คนที่มีรายได้น้อย เมื่อได้รับเงินเพิ่มแบบชั่วครั้งชั่วคราวจะมีการใช้เงินมากน้อยต่างกันตามรายได้ คนที่มีรายได้น้อยจะใช้เงินที่ได้รับแจกมานั้นในสัดส่วนมากกว่าคนที่มีรายได้สูง ดังนั้นสิงคโปร์ที่ใช้มาตรการแจกเงินแตกต่างกันตามรายได้ โดยคนที่รายได้น้อยได้มาก คนรายได้สูงได้น้อย ทำให้ผลักดันการใช้จ่ายรวมของประเทศได้มากกว่าแจกเท่ากันทุกคน
4. ที่มาของเงินที่ได้มานั้นมีผลต่อการเพิ่มการใช้จ่าย หากเป็นเงินฟรี ๆ เราจะใช้จ่ายมากจากเงินก้อนนั้น แต่ถ้าเป็นเงินของเรา แต่รัฐคืนมาให้ หรือรัฐลดภาษีให้ (Charles Steindel, 2001) หรือจ่ายอะไรแทนเราเป็นการชั่วคราว ทำให้เรามี
เงินเหลือในมือมากขึ้นชั่วคราว ประชาชนจะมองว่าเงินทั้งหมดเป็นของเขา ไม่ใช่ฟรี ก็จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าเงินที่ได้มาฟรี ๆ และยังใช้จ่ายตามรายได้ปกติที่หาได้ตามเดิม
5. มาตรการแจกเงินฟรี หากให้ระยะยาวแล้ว คนจะคิดว่าเป็นรายได้ถาวร (Permanent income) จะทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายต่อรายได้ (MPC) จะน้อยกว่าการให้ในระยะสั้น ๆ ทำให้มาตรการนี้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นมาตรการนี้เขาจะไม่ให้กันยาว ๆ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้างเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศในช่วงสั้น ๆ
ว่าด้วยประสิทธิภาพการแจก(ฟรี)
สรุปนโยบายการแจกเงินให้ประชาชนฟรี ๆ เป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศทำกันในช่วงที่รัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำลงมากกว่าที่เป็นอยู่ และปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ ดูยากเย็นในการจัดการ เพราะการใช้การใช้จ่ายในประเทศมีผลต่อตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการลงทุนและการส่งออก แต่ในสภาวะนี้ที่ปัญหาไวรัส ภัยแล้ง การส่งออก และการท่องเที่ยวยังห่อเหี่ยว ทำให้การบริโภคในประเทศจึงเป็นความหวังเดียวที่จะพยุงไม่ให้เศรษฐกิจถอยลงลึกเกินไปในช่วงยากลำบากนี้ เพราะการใช้มาตรการแจกฟรีนี้จะทำให้เครื่องยนต์การบริโภคในประเทศยังเดินต่อไป และยังหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ มีรายได้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีแรงจ้างแรงงานต่อไป ถ้าไม่ทำแบบนี้เศรษฐกิจก็อาจล้มเป็นลูกระนาด และมาตรการนี้จะพยุงทุกอย่างให้ยังพอมีแรง แม้จะเปลี้ยไปบ้าง แต่ก็น่าพอมีแรงเหลือในการลืมตาอ้าปากอีกครั้งเมือทุกอย่างกลับมาดีขึ้น ซึ่งทุกคนก็แอบหวังลึก ๆ ว่าจะดีขึ้นในไตรมาสสามของปีนี้
แต่การใช้มาตรการแจกเงินฟรีแบบนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ “ของฟรี” ของประเทศ เงินก้อนนี้มีต้นทุน ต้นทุนช่วงโอกาสที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ดังนั้นต้องนำไปใช้ในมาตรการแบบแจกฟรีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด กล่าวคือ นำไปใช้ให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจภาพรวมมากที่สุด มากกว่านำไปใช้ด้านอื่น ๆ และหากการแจกฟรีนี้ก็เพื่อกระตุ้นการบริโภคทันทีนั้น เราต้องแน่ใจว่าเงินลงไปอยู่ในมือคนที่ “ใช่” คนที่พร้อมจะจับจ่าย คนที่จับจ่ายในที่ที่เหมาะที่ทำให้เงินหมุนในระบบหลาย ๆ รอบ และที่อยากเห็นจริง ๆ คือการศึกษาให้ขัด ๆ มาตรการแบบแจกฟรีนี้มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรเหมือนที่สิงคโปร์และหลายประเทศทำ เพราะจะได้ทำความกระจ่างให้ผู้คนเจ้าของเงินว่างบประมาณส่วนนี้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าในภาพรวมอย่างไร และยังช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการการคลังอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรายได้ของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมาก เช่น การขึ้นหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่ม การลดภาษีรายได้ หรือการประกันรายได้ ฯลฯ ไม่งั้นทุกฝ่ายก็ใช้ความรู้สึกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกสนานโดยไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
มาตรการแจกเงินฟรีในระยะสั้น ไม่ว่าที่ฮ่องกง ไต้หวัน สิงค์โปร์ และอื่น ๆ หลายประเทศในช่วงวิกฤตินี้ เป็นมาตรการระยะสั้น สั้นมาก ๆ เพื่อพยุงการบริโภคในประเทศเป็นเลือดหล่อเลี้ยงองคาพยพอื่น ๆ ของระบบเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ แม้จะไม่แข็งแรงแต่ก็ไม่หยุดชะงักงัน อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ต้องไม่ใช้บ่อย จนสร้างนิสัยของการอของฟรีในทุกเรื่องของคนทั่วไป ความเข้าใจต่อสังคมโดยเฉพาะผู้เสียภาษีเป็นเรื่องสำคัญว่าถึงเวลาที่ต้องใช้ ใช้เพื่ออะไร ไม่อย่างนั้นจะเกิดอะไร … ถ้าคนพยายามเข้าใจก็ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้าคนที่ไม่พยายามเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีครับ การตัดสินใจเป็นเรื่องการตัดสินต้นทุนทางสังคมและการเมืองในภาพรวม