ก่อนจะประสบความสำเร็จ ในเส้นทางสายการวาดภาพ สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ วินเซนต์ แวน โก๊ะ จำจะต้องลาภพจบชาติไปเสียก่อน รูปผลงานที่รังสรรค์ขึ้นมาต่างๆด้วยความงามพิลาศฉาดฉูดนั้นกว่าจะ “ดัง” และมีมูลค่าทบทูนพูนทวีเข้าถึงจุดหูฉี่ หลายคนจึงว่า ช่างเปนยอดศิลปินผู้อาภัพ
แต่ใครเลยจะรู้ว่าก่อนจะเดินเข้าสู่เส้นทางสายนี้ แวน โก๊ะ เคยเปนพระในคริสต์ศาสนามาก่อน การศึกษาวิชาศาสนวิทยาของวินเซนต์ในเมืองหลวงอัมสเตอร์ดามยามนั้น มีความก้าวหน้านิดหน่อยไม่มาก ทว่าในเพศบรรพชิตนั้น เขาอุทิศตัวให้กับชุมชนชาวเหมืองยากจนอย่างเรียกกันภาษาพระว่า “ไปโปรด” อยู่เปนเวลานาน บำเพ็ญทานบารมีสละอาหารให้คนยาก อยู่อย่างอัตคัดเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ และสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อช่วยคนยาก ชั่วแต่ว่าความสามารถทางวาจา, ซึ่งจำเปนอย่างมากในเวลาที่คนทั่วไปไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ของวินเซนต์ไม่ดีเท่าที่ควร ความตะกุกตะกัก และงักเงิ่นเปนอุปสรรคในการเทศนา “โปรด” คนเหมือง
ข้างฝ่ายศาสนจักรก็ไม่ให้การสนับสนุนบาทหลวงผู้มุมานะแต่ว่าฝีปากไม่ดีพอ ไม่ยอมให้ใบอนุญาตนักเทศน์แก่เขาเสียที
อันคนเราเมื่อได้รางวัลตอบแทนติดลบเช่นนี้ วินเซนต์ก็ว่า จีจังหว่อ_ พอกันที (เถอะ) ว่าแล้วก็บอกศาลาวิชาพระ เปิดรับศิลปะเข้ามาสู่วิถีแห่งใจ สับรางรถไฟสายชีวิตจากบาทหลวงมาวาดภาพศิลปะ
อันวินเซนต์ แวนโก๊ะ ผู้นี้นั้นเปนที่รู้กันดีว่า มีอาการทางจิตในลักษณะหดหู่ซึมเศร้าคุ้มดีคุ้มร้ายมาคอยรบกวนเจ้าตัวอยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าตัวไม่รู้ แต่ว่าพยายามจะละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการบำบัดรักษา ไพล่ไปใช้เครื่องดองของเมาเหล้าบุหรี่เปนเครื่องบำบัดจัดการอารมณ์แห่งตัวเสียมาก
วันหนึ่งหลังจากมีเรื่องเคืองใจกับโกแกง ผู้รับโศลกชมเชยจากโลกต่อมาให้เปนอัครศิลปินของพื้นพิภพอีกคนหนึ่ง แวนโก๊ะก็เอาใบมีดโกนเฉือนหูตัวเองทิ้งเข้าให้ เลือดนั้นไหลไม่หยุด
ยังมีนายแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งเปนแพทย์ฝึกหัดอย่างว่าแพทย์ประจำบ้านอินเทิร์นของโรงพยาบาลแถวนั้น ชื่อ ดร.เฟลิกซ์ เรย์ ได้รับเปนเจ้าของไข้ ทำแผลและติดตามดูแลคนป่วยผู้มีใจระทมสับสนจิตผู้นี้ด้วยจิตเมตต์และเอาใจใส่
แวนโก๊ะมาพบหมอเรย์อีกหลายครั้ง ซึ่งนายแพทย์ผู้จะเอาดีทางด้านวัณโรค ก็คอยติดตามผลและให้การรักษาอย่างดีทั้งบาดแผลทางกายและจิตใจ แทนคำรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจ คนไข้ผู้นี้ก็ลงสีน้ำมันวาดรูปคุณหมอเรย์ ส่งมอบให้หมอเปนของขวัญ
รูปวาดของหมอเรย์ โดย วินเซนต์ แวน โก๊ะ รังสรรค์ขึ้นในปี 1889 ด้วยทีแปรงแน่วแน่ คุมโทนสีแดง_เขียว เพียงสองสีหลัก
ชะรอยดวงจิตและสายตาของเอกอัครศิลปินผู้นี้คงสามารถมองเห็นองค์ประกอบแสงในความว่างเปล่าของมวลอากาศที่ห่อหุ้มรายล้อมจึงถ่ายทอด ความเปนพยับพโยมงดงามเฉิดฉานออกมาได้เปนพรรณรายงามงดนัก
ทว่าหมอเรย์ ในวัย ไม่ทันเบญจเพส ได้รับของขวัญนี้แล้วกลับรู้สึกสยองพองขน บ่นๆว่าวินเซนต์ลงสีหัวหมอซะเปนปอยแดงฉาน ว่าแล้วหมอก็เก็บรูปบนผืนผ้าใบนี้กลับบ้าน เอาไปแปะซ่อมเล้าไก่หลังบ้านอยู่พักนึง
ในเวลาถัดมาร่วมสิบปี วินเซนต์ตายลงแล้วด้วยอัตวินิบาตกรรม_ยิงตัวเอง หมอเรย์ก็ขายรูปตัวเองที่วินเซนต์วาดให้พ่อค้าศิลปะจากปารีสโดยไม่ลังเลในราคาไม่กี่มากน้อย ซึ่งผ่านไปอีกสิบปี พวกรัสเซียมาขอซื้อจากพวกปารีส และต่อจากนั้นก็คงอยู่ที่รัสเซียเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พุชกิ้นเรื่อยมา ราคาประเมินรูปหมอเรย์ขั้นต่ำในขณะนี้ อยู่ที่ 1,600 -1,800 ล้านบาท!
ในขณะที่อีกยอดคุณหมอในดวงใจของวินเซนต์คือ ดร.พอล กาเช่ต์ ซึ่งเปนหมอมีอายุแล้ว กล่าวกันว่าเปนผู้ชำนาญทางจิตเวชวิทยา วินเซนต์เมื่อเข้ารับการรักษาจาก ดร.กาเช่ต์แล้ว เขียนจดหมายรำพึงถึงธีโอน้องชายคนสนิทว่า “พี่รู้สึกว่าหมอกาเช่ต์คนนี้ อาการแกหนักกว่าพี่อีกน่ะ” แต่ต่อมาไม่นาน ดร.กาเช่ต์ผู้เลื่อมใสในงานศิลปะแขนงต่างๆก็สามารถทลายกำแพงระหว่างเขาและคนไข้ผู้นี้ลงได้สิ้น
แทนความประทับใจนั้น วินเซนต์วาดภาพเหมือนของ ดร.กาเช่ต์ให้เปนของขวัญแก่ตัวผู้ถูกวาด คราวนี้คุมสีคุมโทนตามอารมณ์รูปหนึ่งสีทึมเงิน_ดำ อีกรูปสีจัดส้ม_น้ำเงิน ระบุในจดหมายถึงน้องสาวว่า รูปคุณหมอนั้น จะดู ‘เศร้าแต่สุภาพ, ทว่าแจ่มใสและมีปัญญา’
รูปแรกสีทึมนั้น ตกเปนของน้องสะใภ้ แวนโก๊ะ
รูปสองสีสด ตกแก่ หมอกาเช่ต์ ซึ่งทายาทส่งมอบให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสตามเจตประสงค์จำนงค์หมายของคุณหมอผู้ต่อมาล่วงลับไป ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Orsay ในฝรั่งเศส มูลค่าเปนเท่าไรขอให้ประเมินเอาจากเรื่องราวการเดินทางของรูปแรกสีทึมดังต่อไปนี้
หลังจากวินเซนต์มรณาไปแล้ว น้องสะใภ้ขายรูป หมอกาเช่ต์สีทึมไปในราคา 300 ฟรังก์ ให้พ่อค้างานศิลปะชาวเยอรมัน ซึ่งขายต่อไปในทันทีแก่พวกเยอรมันด้วยกัน แล้วเปลี่ยนมือไปมาอีก สามรอบ ก่อนไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Stadel นครแฟรงก์เฟิร์ต แล้วถูกฮิตเลอร์ยึดไปช่วงสงครามโลกโดยทีมของนายพลกอร์ริง ซึ่งขายต่อให้นายแบงค์เยอรมัน แล้วเปลี่ยนมือไปที่นายแบงค์อเมริกัน จนปี 1990 สถาบันการประมูลคริสตี้ส์จัดการประมูลให้ครอบครัวของนายแบงค์คนนี้ ขายภาพหมอกาเช่ต์สีทึมไปในราคา เกือบ 4,000 ล้านบาท โดย มหาเศรษฐีญี่ปุ่นซื้อไป เปนอันว่าภาพหมอกาเช่ต์นี้ทำสถิติภาพเขียนราคาแพงที่สุดในโลกในยามนั้นได้สำเร็จ
หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใด (สาธารณชน) ได้เห็นภาพหมอกาเช่ต์สีทึมอีกเลย ด้วยเข้ากรุสมบัติส่วนตัวของเขา (ท่าน) ผู้ซื้อไปเสียแล้ว แม้จะมีข่าวการเปลี่ยนมืออีกสองสามรอบข้ามทวีปก็หาได้มีหลักฐานยืนยันอะไรไม่ การคุ้ยเเคะต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องใช่หาที่สมควร เพราะภาษิตมีว่า ของเขาเงินเขา_เราไม่เผือก แต่หากจะใช้เงินเราเข้าซื้อของๆเขากลับมาเชยชมไว้เองสักที รอบนี้ผู้สันทัดกรณีท่านว่า ต้องเรียกหาเงินสดมาติดรอไว้ในมือสักครึ่งหมื่นล้านบาท!
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563