ล้มประมูล 1.4 แสนล้าน เพราะประโยชน์ไม่ลงตัว

05 ก.พ. 2564 | 06:05 น.

ล้มประมูล 1.4 แสนล้าน เพราะประโยชน์ไม่ลงตัว? : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3651 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

     ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ กันทั้งปฐพี เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ที่มี นายกิตติกร ตัณเปาว์ รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธาน จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่ง วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และ กาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการ มีมติให้ “ยกเลิกการประมูล” รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และดำเนินการ “เปิดประมูลใหม่”
 

     “กิตติกร” บอกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ไป คณะกรรมการมาตรา 36 จะรายงานให้คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับทราบและพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 และพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC รวมทั้งให้รฟม.เริ่มกระบวนการเปิดประมูลใหม่ และนำเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาต่อไป
 

     โครงการรถไฟสายสีส้มนี้ถือเป็นไข่แดงของระบบการเดินทางในเมืองหลวงที่ จะเชื่อมต่อจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-ราชดำเนิน-บางขุนนนท์
 

     การล้มการประมูลแล้วดำเนินการประมูลใหม่ของคณะกรรมการตามมาตรา 36 นั้น เป็นเพราะ คณะกรรมการ มาตรา 36ไปแก้หลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ที่ไม่ยึดหลักข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนที่ยึดเอาการที่รัฐได้ผลประโยชน์สูสุดคือมีการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันตํ่าที่สุดมาเป็นตัวตั้ง แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงหักการนี้กลางอากาศ และให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาของคระกรรมการ มาตรา 36 อีก 10 คะแนน หลังจากที่ขายซองประมูลไปให้กับเอกชน 10 ราย จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และยื่นฎีการ้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อขอความเป็นธรรม
 

ล้มประมูล 1.4 แสนล้าน เพราะประโยชน์ไม่ลงตัว


     หลักเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขนั้นคือ จะนำซองเทคนิค (ซอง 2) และซองราคา (ซอง 3) มาพิจารณาให้คะแนนร่วมกัน ต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้วิธีพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากผ่านซองเทคนิคจึงจะเปิดซองราคา และการพิจารณาซองราคาที่มีน้ำหนักในการให้คะแนน 70 นั้นจะแบ่งออกเป็นการให้คะแนนขอกรับเงินจากรัฐตํ่าสุดแค่ 60 คะแนน อีก 10 คะแนนจะดูวามเหามะสม ความเป็นไปได้ ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเหนือราคาที่เรียกร้องจากรัฐ
 

     เหนือกว่านั้น มติการล้มการประมูล เกิดขึ้นสวนทางคำสั่งศาลปกครองกลางที่พิจารณาและมีคำตัดสินทุเลาคำร้องของเอกชน ซึ่งก็คือกลุ่ม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยศาลปกครอง ระบุว่า  
 

     “เมื่อพิจารณาตามมาตรา 38 ของพรบ.ร่วมทุนฯแล้ว ก็มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกแต่อย่างใด และการที่คณะกรรมการมาตรา 36 ที่เป็นถูกฟ้องอ้างว่า มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมทุนตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 38 (7) ศาลปกครองเห็นว่า อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ในส่วนที่มิใช่เป็นสาระสำคัญ”
 

     โดยคณะกรรมการมาตรา 36 พลิกเกมไปใช้อำนาจตามหนังสือชี้เชิญการลงทุนในเงื่อนไชและหลักการเดืมที่ขายซองให้เอกชนไปแล้ว “ยํ้าว่าเงื่อนไขเดิมก่อนแก้ไขใหม่” ในข้อ 12 มาเป็นเหตุผลในการล้มการประมูล ประกาศหนังสือเชิญชวนดังกล่าวนั้น ลงนามโดย ภัคพงศ์ ศิริกันทรมาศผู้ว่า รฟม. ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563  ซึ่งระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ประกาศเชิญชวน
 

     12. การสงวนสิทธิ์  รฟม. สงวนสิทธิ์ ดังนี้
 

     12.1 สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกการประกาศเชิญชวนข้อเสนอ หรือยกเลิกการคัดเลือก โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลยหรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สุทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ จาก รฟม. ได้
 

     12.2 สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลด หรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติของคณะรัฐมนตรี
 

     12.3 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 มีสิทธิที่จะเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะการคัดเลือกเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
 

     12.4 สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และ/หรือ เพิ่มเติมรายละเอียดในร่างสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับผลการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอและผลการเจรจาต่อรองระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กับผู้ยื่นข้อเสนอรวมทั้งความเห็นและผลการตรวจพิจารณาร่างสัญญา (ถ้ามี) จากสํานักงานอัยการสูงสุดและ มติคณะรัฐมนตรี
 

     โครงการนี้ จึงมีการป้องปากซุบซิบกันว่า คนการเมือง ร่วมรัฐบาลด้วยกัน มีการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว จึงมีการ จับประชาชนที่จะได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรจากเงินลงทุนที่มาจากภาษีประชาชนเป็นตัวประกัน
 

     วงการธุรกิจก่อสร้าง และข้าราชการในกระทรวงคมนาคมป้องปากซุบซิบกันว่า โครงการนี้เงินลงทุน 1.42 แสนล้านบาท นั้นแยกเป็นงานโยธาและการก่อสร้างราว 9.6 หมื่นล้านบาท -1 แสนล้านบาท งานระบบการเดินรถและงานเวณคืนประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น บรรดามืออาชีพทางวิศกรรมและการบริหารเงินบอกว่าถ้าทำดีๆ จะมีส่วนส่วนต่างของการควบคุมต้นทุนเพื่อสร้างกำไรอยู่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท”  
 

     แปลเป็นไทยว่า ถ้ามีคนเสนอราคาตํ่ากว่าราคากลาง 1 แสนล้านบาท ก็ย่อมทำได้ แต่เมื่อไปเพิ่มวิธีการคัดเลือการนำคะแนนเทคนิกและราคามารวมกัน แถมบวกด้วย ดุลพินิจของคณะกรรมการมาตรา 36 อาจทำให้คนที่เสนอราคาขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตํ่าที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะงานนี้ก็เป็นไปได้...
 

     ผมไม่ทราบว่า ทุกท่าน รวมถึงนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามทันวิธีคิดเขาหรือไม่ แต่เขาพูดกันเยี่ยงนี้จริงๆ ครับ
 

     คำถามคือ คณะกรรมการมีอำนาจในการล้มการประมูลหรือไม่ และถ้าล้มการประมูลไปจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรเพื่อรักษาประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน ให้ดีที่สุด
 

     แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงจาก คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า รฟม.จะเริ่มต้นกระบวนการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ ทันทีหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติยกเลิกการประมูลในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 เดือน เนื่องจากต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในการร่างทีโออาร์ใหม่ เช่น เกณฑ์การพิจารณาคะแนนเทคนิค เป็นต้น


     ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะประมูลนั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ คือ จะนำซองเทคนิค (ซอง 2) และซองราคา (ซอง 3) มาพิจารณาให้คะแนนร่วมกัน ต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้วิธีพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากผ่านซองเทคนิคจึงจะเปิดซองราคา
 

     แปลว่า ล้มการประมูลในรอบที่แล้ว เพราะเอกชนร้องศาลปกครองและคัดค้านในเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลที่ปรับปรุงใหม่ อันอาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเสนอราคาขอรับเงินจากรัฐในราคาตํ่าสุดแล้ว ทำการเปิดประมูลใหม่โดยใช้เงื่อนไขที่เอกชนคัดค้านนั่นแหละมากำหนดเป็น ทีโออาร์ใหม่ แล้วเปิดขายซองประมูลราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม....ผมละมึน
 

     ผมไม่รู้ว่าทุกคนจะคิดอย่างไร แต่ผมว่าพิลึกเอามากๆ
 

     พิลึกแรก เอกชนเขาค้านว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังจากการขายซองไปแล้วนั้น ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ในเรื่องราคา และการดุลยพินิจ
 

     พิลึกที่สอง เอกชนเขาร้องต่อศาลของทุเลา ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งทุเลาว่า “เมื่อพิจารณาตามมาตรา 38 ของพรบ.ร่วมทุนฯแล้ว ก็มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกแต่อย่างใด และการที่คณะกรรมการมาตรา 36 ที่เป็นถูกฟ้องอ้างว่า มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมทุนตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 38 (7) ศาลปกครองเห็นว่า อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาดำเนินการอื่นๆในส่วนที่มิใช่เป็นสาระสำคัญ” แต่ยังไม่ทันประมูลคณะกรรมการก็ล้มประมูล ก่อนที่ศาลจะตัดสิน เรียกว่าใช้อำนาจทางบริหารก่อนที่ศาลจะตัดสิน
 

     พิลึกต่อมา คือ ไม่ว่าถูกว่าผิด อั๊วจะใช้วิธีประมูลแบบนี้ ส่วนเรื่องการฟ้องร้องคดีต่างๆ ก็ต้องเป็นหมันล้มไป เพราะฟ้องในหลักการเดิม...เงื่อนไขเดิม แต่นี้คือการประมูลใหม่..
 

     เอาละไม่ว่าโครงการนี้จะเป็นเช่นไร หมูจะหามใครอย่าเอาคานมาสอด
 

     ผมพามาดูหนังสือคัดค้านของผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ที่ทำเรื่องคัดค้านการแก้ไขหลักเกณฑ์ทีโออาร์ภายหลังการซอง เพื่อประมูลโครงการ ต้องบอกว่าเธอกล้าหาญชาญชัยในการแสดงความคิดเห็นไว้จริงๆ ครับ
 

     เรียน  ประธานกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
 

     “สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วม ลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ดิฉัน นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง กรรมการผู้แทนสํานักงบประมาณใน คณะกรรมการคัดเลือกฯได้กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) นําเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้า แห่งประเทศไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดําเนินโครงการ  
 

     โดยในรายละเอียดหนังสือ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ กค ๐๘๒๐.๑/๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ (หน้า ๖ และ๗ หัวข้อ ๔.๖ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนและหน้าที่ของรัฐและเอกชน) ได้กําหนดหลักการ ประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนไว้ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนรวมทั้ง ๒ ส่วนจากภาครัฐเมื่อคิดเป็น (มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเจตนาให้ประเมินข้อเสนอโดยใช้มูลค่า ปัจจุบัน (NPV) ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐสูงสุดในการประเมินผู้ชนะการคัดเลือก
 

     เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ (นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี) ได้ชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นมติคณะกรรมการ PPP แต่เป็นการประมวล สาระสําคัญเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีของสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการ PPP และคณะกรรมการคัดเลือกบางท่านมีความเห็นว่า การ กําหนดหลักเกณฑ์การประเมิน ข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนเป็นอํานาจหน้าที่และดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ นั้น
 

     ดิฉัน นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง กรรมการผู้แทนสํานักงบประมาณขอยืนยันความเห็นว่า หลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนที่กล่าวไว้ในหนังสือคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ที่ กค ๐๘๒๐.๑/๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๓ เนื่องจากหลักการดังกล่าวเป็นไปตามผลการศึกษาและวิเคราะห์ โครงการฯที่การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้นําเสนอคณะกรรมการ PPP เมื่อคราวขออนุมัติการดําเนิน โครงการต่อคณะกรรมการ PPP และประเด็นดังกล่าวเป็นสาระสําคัญจึงได้มีการนําเสนอไว้ในหนังสือ คณะกรรมการ PPP ในการขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๓ อนุมัติการดําเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเสนอ
 

     ดังนั้น หากคณะกรรมการคัดเลือกฯจะปรับปรุง หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน “คณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องนําเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดําเนินการได้”
 

     จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา  ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสํานักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
 

     ประเทศนี้ต้องการคนแบบเธอครับ!