ตกใจกันทั้งบาง เมื่อคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ไม่มีการนำวาระการช่วยเหลือการบินไทยเข้าสู่ที่ประชุมครม.หลังจากมีข่าวคราวออกมาว่า จะมีมวยคู่ใหญ่ชกกันระหว่าง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม กับ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ที่งัดข้อกันในเรื่องมาตรการช่วยเหลือการบินไทย
และตกใจกันไปใหญ่เมื่อ นางปานทิพย์ ศรีวิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะไม่เข้าไปใส่เงินเพิ่มทุนให้แก่บริษัทตามที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจาก ขณะนี้ ส่วนทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ติดลบนับแสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังใส่เงินเข้าไป จะถือว่า ใส่เงินเข้าไปถมทะเล
“ส่วนของทุนเขาติดลบเป็นแสน ถ้าเพิ่มทุน ก็เท่ากับว่า เอาเงินไปถมทะเล เพิ่มไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ และตอบคำถามประชาชนไม่ได้ว่า เอาเงินไปใส่ทำไม และจะเอาเงินจากไหน ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการคลังไม่เพิ่มทุน ขณะที่ผู้ถือหุ้นอื่นยอมใส่เงินเพิ่มทุน สัดส่วนหุ้นเราก็จะไดรูทลงเป็นธรรมชาติ”
เมื่อถามว่าถ้าจะต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจะต้องซื้อหุ้นคืนไหม ผอ.สคร.กล่าวว่า ตอนนี้รัฐถือหุ้นในการบินไทยในสัดส่วนใหญ่สุดที่ 49.99% ถ้าจะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐต้องถือหุ้นเกิน 50% ฉะนั้น ต้องซื้อคืน หรือ แค่ 0.02% ก็เป็นแล้ว ซึ่งหุ้นก็มีขายในตลาดใครก็เข้าไปซื้อได้ แต่ขณะนี้ คลังซื้อไม่ได้ เพราะถ้าคลังซื้อก็เท่ากับว่า จะถือหุ้นเกิน 50%
แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทยที่กำลังจะโหวตกันในวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้รวม 13,133 ราย ภาระหนี้ที่มาปรับโครงสร้าง 410,140 ล้านบาท ที่จะเปิดให้เจ้าหนี้โหวตกันวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ก็แพแตกสิครับพี่น้อง
ก่อนการโหวตแผน 3 วัน มีข่าวลึกออกมาว่า คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ได้ยื่นเอกสารขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เนื่องจากในการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินนั้นบรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้กันราว 17,000 ล้านบาท ยังไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูและเห็นชอบร่วมกันให้ทางผู้ทำแผนการบินไทย หรือในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นขอแก้ไขแผน ในประเด็นสำคัญ ที่เจ้าหนี้ต้องการคือ...
ให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ หรือเป็นเจ้าภาพในการใส่เงินก้อนใหม่ แต่ปัญหาคือการที่กระทรวงการคลังจะทำเช่นนี้ได้ หมายความว่า ต้องดึงบริษัทการบินไทย กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก
สวนทางกับมติคณะรัฐมตนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามกฎหมายล้มละลาย และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นคือ ให้การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด ให้กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทการบินไทยเหลือเพียงร้อยละ 48
แต่ถึงตอนนี้ผมทราบว่า กระทรวงการคลังที่ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็นจำนวนมากกำลังจัดทำข้อเสนอให้ครม.พิจารณณาดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกรอบ โดญเน้นฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติให้กลับมาทำธุรกิจให้ได้ โดยรัฐบาลถือหุ้น โดยกระทรวงการคลังใส่เงินกู้ให้ 25,000 ล้านบาท แบงก์ผู้ปล่อยกู้พร้อมปล่อยกู้ให้แต่กระทรวงคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ 25,000 ล้านบาท และขอขยายระยะเวลาการบริหารแผนออกไป จาก 5 ปี เป็น 7 ปี
แต่ถ้าพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นจะทำให้ การบินไทยต้องเดินตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ผู้บริหารแผนอาจปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกหน่วยธุรกิจ เช่นครัวการบิน การให้บริการภาคพื้นดินและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและคลังสินค้า การซ่อมบำรุงอากาศยาน จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น โดยการบินไทย และผู้บริหารแผนอาจพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทร่วมบริษัทย่อยในปัจจุบันลงบางส่วนให้กับผู้สนใจได้สบาย
นอกจากนี้ ตั้งแต่พ้นสภาพความเป็นรัฐวอิสาหกิจมาการบินไทยมีแต่สาละวันเตี้ยลง “สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการในพื้นที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.รวม 47 สัญญา” มีสิทธิถูกยกเลิกแม้การบินไทยได้ขอความช่วยเหลือไปยังคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อขอสนับสนุนการแก้ไขสัญญาต่างๆ เพื่อให้การบินไทยดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดล็อกข้อกฎหมายจากการที่การบินไทยพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ผมทราบว่ามีไอ้โม่ง ไอ้มืด พยายามดำเนินการบางประการในการทำให้การบินไทยสลบ เพราะถ้าสลบเหมือดนั้น ตามแผนไอ้โม่ง ไอ้มืด แล้วจะเป็นโอกาสได้ “ของดี” เนื่องจากในแผนฟื้นฟูนั้นสามารถตัดขายทรัพย์หรือหาผู้ร่วมทุนใหม่ในแต่ละ “บิสสิเนส ยูนิต” ได้ เหมือนที่ภูเก็ต ที่เชียงใหม่
ผมขอบอกให้ว่าเค้กและสุดยอดในการบริการของการบินไทย ไม่ได้อยู่สายการบินอย่างเดียว แต่หมายถึงบริการภาคพื้น กราวนด์เซอร์วิส ใครได้ สบายบรื๋อ...
ผมไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร แต่มีคนที่บอกได้ดีกว่าผมแน่นนอน เธอผู้นั้นคือ วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เธอบอกว่า...ทำไมถึงควรสนับสนุนการฟื้นฟูการบินไทย
อีก 2-3 วันก็จะถึงวันประชุมเจ้าหนี้การบินไทย คือในวันที่ 12 พ.ค. 64 จะเป็นวันชี้ชะตาว่าการบินไทยจะมีทางรอดหรือไม่ หลังจากวันที่ 19 พ.ค. 63 ซึ่ง ครม. ได้มีมติให้การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ และให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
วันนี้แผนฟื้นฟูเดินทางมาได้มากแล้ว แต่นานาประเทศยังไม่ยอมปลดข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้การบินไทยแทบขึ้นบินไม่ได้ แม้จะลดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้เกิน 30,000 ล้านบาทแล้ว และต้องการสภาพคล่องในช่วงที่ยังเผชิญโควิทในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผ่านวิกฤิตนี้ไปได้อีก 50,000 ล้านบาท ก่อนที่จะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 ที่คาดว่าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
แต่มีการถกเถียงแนวทางการฟื้นฟูจากกูรูหลายท่านว่าควรขายทิ้งการบินไทยให้เอกชนหรือต่างชาติไปเลย รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก ฯลฯ
แต่ข้าพเจ้าเห็นต่าง เพราะสายการบินแห่งชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
การดำรงอยู่ของสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP และการบินไทยก็เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ
หากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พ.ค. นี้ การบินไทยก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกภายหลังธุรกิจการบินกลับมาเป็นปกติคือ ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยในปี 2562 จะพบว่าสูงกว่า 24 ล้านคนมีความจำเป็นอะไรที่แก้ไขไม่ได้เลยหรือ ถึงจะทำให้เราต้องยอมสูญเสียผู้โดยสารเหล่านี้ให้แก่สายการบินอื่นๆ อีกทั้งผู้โดยสารชาวไทยก็ต้องไปอาศัยสายการบินอื่นๆ ในการเดินทาง เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ เวียดเจ็ท หรือ ไทยไลอ้อนแอร์ ฯลฯ
หากปัญหาเกิดจากข้าราชการหรือนักการเมืองฉ้อฉลในการบินไทย หากเกิดจากบอร์ดหรือผู้บริหารและพนักงานการบินไทยไม่ได้คุณภาพ ก็จัดการเขาสิ ทำไมต้องถึงกับเลิกสายการบินแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทั้งมวล แล้วนำของดีไปขายให้คนอื่นยามนี้ในราคาถูกแสนถูก เช่น ลดราคาไปตั้ง 70%-80% ด้วย
หรือจะทำเหมือนยุคต้มยำกุ้งปี 2540 ที่นำสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปเร่งประมูลขายเพียง 190,000 ล้าน ด้วยหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์มากมายให้ผู้ซื้อ ... ลดราคาไปตั้ง 77% ให้คนรับซื้อทั้งไทยและเทศได้ประโยชน์ยิ่งกว่าส้มหล่น
ในขณะที่สายการบินแห่งชาติของประเทศอื่นๆ ที่ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันเขายังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญของสายการบินต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศ และการฟื้นตัวหลังวิกฤติ
ยิ่งไปกว่านั้น บางรัฐบาลยังพร้อมจะสนับสนุนให้สายการบินสามารถแย่งชิงตลาดและขยายตัวได้เมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาอีกด้วย...อย่าสายตาสั้น !
ข้าพเจ้าห่วงจริงๆ ว่าหากเจ้าหนี้ไม่ผ่านแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พ.ค. นี้ แล้วทำให้การบินไทยถูกกระชากสินทรัพย์ดีๆ ไปเร่ขายในราคาถูกแสนถูกเหมือนยุค ปรส. รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีผู้โดยสารเดินทางด้วยการบินไทยจะหลุดไปจากประเทศ เพราะการบินไทยมีผู้ถือหุ้นเกือบ 48% เป็นกระทรวงการคลัง กว่า 17% เป็นกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง กับอีก กว่า 2% เป็นธนาคารออมสิน...ผลประโยชน์เหล่านี้จะกลายไปเป็นของสายการบินอื่นทั้งไทยและเทศ ไม่ใช่ของประชาชนโดยผ่านการถือหุ้นของรัฐ
ถ้าการบินไทยต้องเลิกกิจการ แล้วออกจากกระทรวงการคลัง ไปอยู่ในมือของ กระทรวงคมนาคม ในยุคนี้ เพื่อนำไปแบ่งส่วนขายเป็นชิ้นๆ...โอ้โห...ไม่กล้าคิดต่อแล้ว
ประเด็นต่อมา เธอว่าเราจะยอมไหม ?สิทธิการบินและเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อีกประเด็นสำคัญคืออย่าลืมว่าการบินไทยเป็นหนึ่งในเฟืองจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจท่องเที่ยวในฐานะสายการบินแห่งชาติมากว่า 60 ปี ... การไม่ดำรงอยู่ของการบินไทยจะส่งผลต่อ “สิทธิการบินและเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ” เป็นอย่างมาก เช่น
- การขนส่งผู้แสวงบุญชาวไทยไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ต้องดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติเท่านั้น (ตามข้อกำหนดของสหราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย) อ้อ ... ก็ต้องทิ้งส่วนดีนี้ให้สายการบินแห่งชาติอื่นสินะ
- การบินไทยยังมีโอกาสได้รับใช้ประชาชนคนไทยตามภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนตามที่ภาครัฐร้องขอ เช่นการให้บริการขนย้ายผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- หากการบินไทยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ การบินไทยต้องเสียสิทธิในการเป็นพันธมิตรสายการบิน Star Alliance ซึ่งเป็นพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ของโลกที่การบินไทยมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง และสมาชิกในกลุ่ม Star Alliance ก็มีการส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางผ่านประเทศไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญถ้าไม่มีสายการบินแห่งชาตินี้ไปแล้ว
- ผลกระทบต่อคู่ค้ากว่า 2,000 ราย และผลกระทบต่อลูกจ้างกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อาจกระทบต่อการจ้างงานของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อเจ้าหนี้กว่า 13,000 ราย
- ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากการที่การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีการออกหุ้นกู้ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป โดยนักลงทุนซื้อเพราะเชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ (มีชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 3 ล้านราย และเมื่อรวมกับครอบครัวสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 ล้านราย นำเงินออมมาลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยรวมกันกว่า 40,000 ล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นกู้หลัก)
ดังนั้น หากการบินไทยล้มละลายหรือไม่สามารดำรงอยู่ได้ การบินไทยย่อมไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เหล่านี้ได้รับความเสียหายจำนวนมากและในวงกว้าง จนอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติสำหรับการลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันในอนาคต
ธุรกิจการบินไทยยังมีพื้นฐานที่ดี มี Brand ที่แข็งแกร่ง และมีทรัพยากรที่สามารถดำเนินงานต่างๆ ต่อไปได้ทันที เช่นเดียวกับสายการบินชั้นนำของโลก แค่เพียงปรับโครงสร้างบริหารจัดการองค์กรตลอดจนหน่วยธุรกิจต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวและะลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงเสีย ปัญหาของการบินไทย ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้
ขณะที่จำนวนเงินที่ขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนเพียง 25,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนสายการบินแห่งชาติของตนเอง
นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้นั้น การบินไทยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดจนสิทธิประโยชน์จากสัญญาที่มีความเกี่ยวข้องหรือต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ ไม่ด้อยกว่าก่อนการเข้าฟื้นฟูกิจการ จึงจะส่งผลดีต่อฟื้นตัวของการบินไทย
การให้การสนับสนุนของภาครัฐยังส่งผลต่อความต่อความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน นักลงทุน และสร้างความภูมิใจให้แก่ประชาชนชาวไทย ที่ยังคงดำรงให้การบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคมส่วนรวม ทั้งในสถานการณ์วิกฤติและปกติ มาโดยตลอด
ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา การบินไทยก็คือฑูตวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยในฐานะ “Thailand, the Land of Smile” จึงน่าเสียดายอย่างยิ่งหากการบินไทยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ทั้งที่ยังมีโอกาสฟื้นฟูกิจการซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน
หากปล่อยให้การบินไทยล่มสลาย ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป และการที่จะสร้างสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่ ก็ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่ดี อีกทั้งอาจต้องเสียเวลาอีก 60 ปีในการสร้าง Brand Awareness ให้เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะสายเกินไป และจะทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Medical Health Tourism Hub of the Region ตามรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น....
ฟังความกันให้รอบด้านนะครับ!