นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมการส่งออกน้ำตาลของไทยที่ลดลง ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกกลับปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงสิ่งที่น่ากังวลของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลไทยนับจากนี้ไป
ส่งออกน้ำตาลร่วงแรง
นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวถึงภาพรวมของการส่งออกน้ำตาลของไทยในปีนี้ (ปี 2563/64) ว่า ผลผลิตนํ้าตาลไทยลดลงถึงระดับตํ่าสุดในรอบมากกว่า 10 ปี เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยผลิตนํ้าตาลได้รวมทั้งสิ้นเพียง 7.6 ล้านตัน จากผลผลิตอ้อยทั้งสิ้นรวม 66.7 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียงประมาณ 5 ล้านตันจากเดิมไทยส่งออกน้ำตาลได้ตั้งแต่ 7-10 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้สถานการณ์ดูเลวร้ายลงอีก เมื่อปรากฏว่าการส่งออก นํ้าตาลของไทยกลับมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคืออินโดนีเซีย ได้เปลี่ยนไปนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งอาจมีราคาตํ่ากว่า เพราะอินเดียสามารถขายนํ้าตาลในราคาที่ตํ่าได้ จากได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลไม่ตํ่ากว่าตันละ 6,000 รูปี หรือประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ไทยยังถูกเวียดนามใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) สินค้านํ้าตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยโดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้านํ้าตาลจากไทยเป็น 52.64% จากเดิม 5%
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกนํ้าตาลได้ทั้งสิ้นจำนวน 1.88 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 4.12 ล้านตัน ลดลงถึง 54 %
ทั้งนี้กรณีเวียดนามตอบโต้การทุ่มตลาดของไทย เกิดผลกระทบ คือทำให้ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงรายเดียวในภูมิภาคนี้ สูญเสียโอกาสที่ส่งออกนํ้าตาลไปยังเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ไทยได้เปรียบเรื่องค่าขนส่งและอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียนที่เรียกว่า ATIGA เพียง 5%
ส่วนสาเหตุที่เวียดนามตอบ โต้การทุ่มตลาด นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 เมื่อเวียดนามเริ่มใช้อัตราภาษีนำเข้านํ้าตาลจากไทยในอัตรา 5% ตามข้อตกลงทางการค้าอาเซียน ATIGA จากเดิมอยู่ในอัตราที่สูง ประกอบกับเวียดนามประสบปัญหาผลผลิตนํ้าตาลตกตํ่า จึงนำเข้านํ้าตาลจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2563 นำเข้ามากถึง 1,273,994 ตัน เทียบกับปี 2562 ที่นำเข้าเพียง 299,830 ตัน โดยเวียดนามมองว่าการที่ไทยส่งออกนํ้าตาลไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคาส่งออกน่าจะตํ่ากว่าราคาขายในประเทศถือเป็นการทุ่มตลาด
เสียโอกาสราคาโลกขาขึ้น
ในขณะที่ผลผลิตนํ้าตาลไทยลดลงถึงระดับตํ่าสุดในรอบมากกว่า 10 ปี แต่ราคานํ้าตาลทรายดิบตลาดนํ้าตาลนิวยอร์ก ขณะนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ 20.21 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ 21.49 เซ็นต์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ทำให้ไทยเสียโอกาสจากการส่งออกในภาวะราคาขาขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ราคานํ้าตาลปรับตัวสูงขึ้นนั้น มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตนํ้าตาลในบราซิลกลาง-ใต้ ปี 2564/65 จะลดลงจากปีก่อนจำนวนมากถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตอ้อยจะได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแห้งแล้งและหนาวจัดจนเป็นนํ้าค้างแข็ง รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของราคาตลาดสินค้าล่วงหน้าต่าง ๆ เช่นสินค้าธัญพืชและนํ้ามันดิบ มีส่วนช่วยหนุนให้ราคานํ้าตาลปรับตัวสูงขึ้นด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกนํ้าตาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะบราซิล ได้ทำการขายนํ้าตาลไปเป็นจำนวนมากแล้ว
คาดการณ์ผลผลิตไทย-โลก
นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวถึงผลผลิตอ้อยและน้ำตาลว่าในปี 2564/65 มีการประมาณการว่าไทยจะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านตัน และจะผลิตนํ้าตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน ขณะที่ทั่วโลก เป็นที่คาดกันว่าผลผลิตนํ้าตาลจะขาดประมาณ 2-3 ล้านตัน จากเดิมก่อนหน้านี้เคยคาดว่าผลผลิตนํ้าตาลจะเกินความต้องการ 1-2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคนํ้าตาลลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ และส่งผลกระทบทางอ้อมให้เกิดการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าทั่วโลก ทำให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อราคานํ้ามันปรับตัวสูงขึ้นด้วย จึงยิ่งทำให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนส่งผลให้ผู้ใช้นํ้าตาลต้องชะลอการนำเข้า จนกว่าอัตราค่าระวางเรือจะลดลง
ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่น่ากังวลของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลไทยนับจากนี้ว่า มี 4 เรื่องหลักคือ 1. ผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงงานนํ้าตาล 2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านอ้อย 3.ปัญหาการอุดหนุนการส่งออก นํ้าตาลของอินเดียจะกดดันให้ราคานํ้าตาลตลาดโลกปรับตัวลดลง และทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันกับอินเดีย 4.ปัญหาการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้านํ้าตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยของเวียดนาม จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกนํ้าตาลจากไทยไปยังเวียดนาม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564