ถ้ายังจำกันได้การปิดโรงงานพานาโซนิค 2 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ แล้วไปเปิดที่เวียดนาม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อขยายฐานการผลิตเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่ใหญ่ขึ้น ทั้ง ๆ ที่พานาโซนิคเปิดดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2522 แม้จะเป็นการปิดเพียง 2 โรงงาน ขณะที่อีก 18 โรงงาน ยังดำเนินธุรกิจตามปกติก็ตาม
ขณะเดียวกันหลายคนมองว่านี่เป็นสัญญาณบอกเหตุความถดถอยของการลงทุนในไทยหรือไม่เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นบินตรงไปเจรจาการค้ากับเวียดนามและอินโดนีเซีย คำถามที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นไม่สนใจที่จะลงทุนในไทยแล้วหรือ ทั้ง ๆ ที่ไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในอาเซียน
ญี่ปุ่นขยายฐานเวียดนาม
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมุมมองที่น่าสนใจต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวโดยมองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเน้นยุทธศาสตร์ภูมิเศรษฐศาสตร์ใหม่สำหรับเอเชีย เพื่อให้เกิดความได้เปรียบท่ามกลางการแข่งขันในภูมิภาค ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนและหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2543 ญี่ปุ่นทำการตกลงทางการค้าในกรอบต่าง ๆ มากมาย เฉพาะในปี 2558 มี 15 FTA และขยายเป็นพหุภาคีกับหลายประเทศ เช่น FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น TPP รวมทั้ง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังขับเคลื่อนด้านการช่วยเหลือในรูปของโครงสร้างพื้นฐาน (คล้ายกับ BRI : Belt and Road Initiative ของจีน) พร้อมกับให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาธรรมาภิบาลของประเทศที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนนอกประเทศของญี่ปุ่นอาจจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นไปที่ประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน พร้อม ๆ กับพิจารณาผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศควบคู่กันไป
-10 เรื่องเวียดนามเหนือกว่า
นอกจากนี้ยังมีมุมมองกรณีที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตน่าจะเกิดจากปัจจัยด้านอื่นๆ ในขณะเดียวกันเวียดนามมีข้อเสนอที่น่าสนใจมากกว่าไทยที่เห็นชัดเจนมี 10 เรื่องไล่ตั้งแต่ 1.ค่าจ้างแรงงานของเวียดนามถูกกว่าไทยมาก (ข้อมูลล่าสุด ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายวันของเวียดนามเท่ากับ 180-260 บาท ในขณะที่ของไทยวันละ 313-336 บาท)
2.อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของเวียดนามมีอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าช่วงปี 2533-2559 GDP ของเวียดนามโตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน รายได้เฉลี่ยของประชากรปี 2560 เท่ากับ 71,486 บาทต่อปี มูลค่า Market CAP ของตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง ในเวียดนามเท่ากับ 2.4 ล้านล้านบาท ตลาดการค้าเวียดนามใหญ่กว่าประเทศไทย ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตต่ำกว่าไทย ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาไม่สู้ดี
3.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่เวียดนามให้แก่นักลงทุน เช่น การยกเว้นค่าภาษีอากรการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งไทยเองก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ Total Package ของเวียดนามอาจจะดีกว่า
4.เวียดนามสร้างเมืองใหม่ที่ชานเมืองฮานอยเป็น Smart City โดยเวียดนามจับมือกับบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 20 บริษัท ลงทุนด้วยงบ 4,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้ IOT (Internet of Things) สนับสนุนการควบคุมและประหยัดพลังงาน ในขณะที่ไทยก็มี EEC
5.ผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้สินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในจีนได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะจะถูกอเมริกากีดกันหรือต้องชำระภาษีอากรนำเข้าที่อเมริกาในอัตราสูงรัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นในจีนย้ายฐานการผลิตไปอาเซียน ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกลงทุนในเวียดนามและอินโดนีเซีย และสินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในเวียดนามและส่งไปขายที่อเมริกาจะไม่ได้รับผลกระทบด้านภาษีอากรนำเข้าที่อเมริกา และยังได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA ) ด้วยการได้รับยกเว้นภาษีอากรที่นำเข้าที่ EU ในครึ่งปีหลังของปี 2563 แต่ไทยยังไม่ได้รับประโยชน์ด้านนี้จากอเมริกาและ EU มากนัก หรือน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนาม
นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตในเวียดนาม มีตลาดเวียดนามรองรับและยังมีตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกรองรับ และสินค้าเวียดนามยังได้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรในการยกเว้น ลดหย่อนจากจีน นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ภาษีอากรที่ญี่ปุ่นได้รับจากเวียดนาม และยังได้สิทธิประโยชน์ในกรอบอาเซียน-จีน ด้วย
6.Logistics & Supply Chain ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในเวียดนาม (Foreign Direct Investment: FDI) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเวียดนาม ดังนั้น ระบบ Supply Chain (การสนับสนุนการผลิตซึ่งกันและกันและระบบ Logistics ในเวียดนาม) จึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมระบบโลจิสติกส์และ Supply Chain ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากกว่า ความสามารถเชิงการแข่งขันระหว่างประเทศด้านโลจิสติกส์ในปี 2018 (LPI: Logistics Performance Index) ไทยอยู่อันดับที่ 32 ในขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 39
7.ความมั่นคงทางการเมือง เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และอันดับ 15 ของโลก มีการปกครองในระบบสาธารณรัฐสังคมนิยม ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ มีความมั่นคงทางการเมือง มีความโปร่งใส (ดัชนี CPI (Corruption Perception Index) ในปี 2562 เวียดนามอยู่อันดับที่ 96 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ) มีนโยบายที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ชัดเจน แน่นอน แม้จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี นโยบายก็ไม่เปลี่ยนแปลง
8.คุณภาพผู้นำประเทศและประชากร จากสภาพของประเทศที่ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชจากการปกครองของต่างชาติ การทำสงครามกับฝรั่งเศส และอเมริกา มายาวนาน ประกอบกับมีผู้นำประเทศที่เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ทำให้เวียดนามสามารถรวมพลังประชากรของประเทศในการมุ่งมั่นสร้างตนเองและสร้างอนาคตของประเทศได้อย่างน่าสนใจ
9.โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน ในปี 2560 มีประชากรในวัยทำงานมากกว่า 56 ล้านคน ในขณะที่ประชากรวัยทำงานของไทยระหว่างปี 2563-2583 ลดลงจาก 43.2 ล้านคน เป็น 36.5 ล้านคน และไทยมีปัญหาเรื่องคนสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ประมาณ 20% ของประชากร
10.Life Style ของชีวิตในเขตเมือง วิถีชีวิตในเขตเมืองของเวียดนามมีความเป็นสากลมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ของไทย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในเขตเมืองของไทย น่าจะจูงใจชาวต่างชาติและนักลงทุนได้มากกว่า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการพักผ่อนในยามค่ำคืน
ไทยต้องรีบปรับตัวด่วน
นายสายัณห์ กล่าวว่า ไทยต้องรีบกลับมาพิจารณาปัจจัยต่างๆ ว่าอะไรเป็นจุดแข็งที่จะนำไปสร้างโอกาสเพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยและนักลงทุนญี่ปุ่น อะไรเป็นจุดอ่อน และอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุน เพราะนักลงทุนไทยไปลงทุนในเวียดนามไม่น้อยเช่นกัน
ในส่วนของนักลงทุนไทย คงต้องทบทวนเช่นกันว่าธุรกิจการบริการหรือสินค้าที่ผลิตหรือทำอยู่นั้น ต้องมีการปรับระบบ รูปแบบ เทคนิค และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ โดยต้องมีเทคโนโลยี ระบบโลจิสติกส์ และบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญ และที่สำคัญ เจ้าของกิจการ นักบริหาร นักลงทุน ให้ความสำคัญหรือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีอากรจากกรอบความตกลงทางการค้าแค่ไหน บริหารและใช้เป็นหรือไม่ รวมถึงมีกลยุทธ์ในด้านการบริหารโลจิสติกส์ การใช้เทคโนโลยี และการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม หากสงครามทางการค้าสหรัฐฯ-จีนยังคงมีต่อไป ความได้เปรียบในด้านสิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศของเวียดนามยังได้เปรียบกว่าไทย และหากความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อเวียดนามมากกว่าไทย ก็เป็นที่แน่นอนว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะมองเวียดนามเป็นหลัก รวมถึงนักลงทุนชาติอื่น ๆ รวมทั้งนักลงทุนไทยด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3720 วันที่ 7-9 ตุลาคม 2564