เวียดนามบรรลุข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิด HIPRA สัญชาติสเปน 50 ล้านโดส

15 ก.ย. 2564 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2564 | 01:49 น.

เวียดนามเซ็นสัญญาจัดซื้อวัคซีนต้านโควิดล็อตใหญ่ 50 ล้านโดสจากบริษัท ฮิปรา ฮิวแมน เฮลธ์ฯ (HIPRA Human Health S.L.U.) บิ๊กบริษัทเวชภัณฑ์จากประเทศสเปน โดยสัญญาจัดซื้อดังกล่าวมีมูลค่า 375 ล้านยูโร คาดหมายส่งมอบล็อตแรกภายในสิ้นปีนี้

บริษัท ฮิปรา ฮิวแมน เฮลธ์ฯ ผู้ผลิต วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด RBD (recombinant protein vaccine) รายใหญ่จาก ประเทศสเปน ได้ลงนามทำข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 50 ล้านโดส ให้แก่ รัฐบาลประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่า 375 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 14,591 ล้านบาท

 

เวียดนามเน็ต สื่อของรัฐบาลเวียดนามรายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่นาย Vuong Dinh Hue ประธานสภาแห่งชาติของเวียดนามเดินทางเยือนประเทศฟินแลนด์ และการลงนามมีขึ้นที่เมืองเฮลซิงกิ ภายใต้กรอบพันธะสัญญา ฮิปราจะเป็นผู้ผลิตและจัดสรรวัคซีนโควิด HIPRA ให้แก่รัฐบาลเวียดนาม หลังจากที่มีการทดลองทางคลินิกและทางการเวียดนามให้การอนุมัติแล้ว  

 

วัคซีนทางเลือกชนิด RBD ต้านทานโควิดสายพันธุ์ใหม่

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนโควิดชนิด RBD หรือ recombinant protein vaccine ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน เป็นการรวมโปรตีนที่ผลิตออกมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในอาเซียนสนใจนำมาใช้งาน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง และกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมนักวิจัยวัคซีนของ HIPRA ในประเทศสเปน

ระบบการทำงานของวัคซีน HIPRA คล้ายคลึงกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท โนวาแวกซ์ และซาโนฟี ซึ่งปัจจุบันองค์การยาแห่งยุโรป (EMA) กำลังประเมินเพื่ออนุมัติการใช้งาน ส่วนข้อแตกต่างสำคัญระหว่างวัคซีนของฮิปรากับวัคซีนสองตัวข้างต้นคือ วัคซีนของฮิปราใช้โปรตีนจากเชื้อไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ การป้องกันจึงครอบคลุมไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ  นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบสารเสริมภูมิคุ้มกัน (adjuvant) ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย

 

ในการทดลองขั้นต้นและการทดลองวัคซีนในสัตว์ พบว่าวัคซีน HIPRA มีประสิทธิภาพที่ดีในการต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสเปน

 

จุดเด่นอีกประการคือ วัคซีนดังกล่าวสามารถจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จึงจัดเก็บได้ในตู้เย็นปกติและสะดวกต่อกระบวนการโลจิสติกส์ (อ่านเพิ่มเติม: วัคซีนทางเลือก สเปนจ่อทดลองวัคซีนโควิดผลิตเอง มุ่งรับมือโควิดกลายพันธุ์)

 

การทดลองทางคลินิกวัคซีน HIPRA ในประเทศสเปนเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จสิ้นลงในเดือนตุลาคม จากนั้นบริษัทจะเริ่มกระบวนการผลิตโดยเร็วที่สุด คาดว่าการผลิตวัคซีนล็อตแรกพร้อมส่งมอบในช่วงสิ้นปีนี้จะมีปริมาณ 75 ล้านโดส จากนั้นจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 600-900 ล้านโดสในปี 2565 และ 1,200 ล้านโดสในปี 2566

การแพร่ระบาดน่าเป็นห่วง อัตราการฉีดวัคซีนต่ำสุดในเอเชีย
 

เดวิด โนกาเรดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิปรา คาดหมายว่าวัคซีนดังกล่าวจะได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปีหน้า     

 

ทั้งนี้ ทางการเวียดนามมองว่า ฮิปราเป็นบริษัทที่มีฐานการผลิตวัคซีนหลักที่ประเทศสเปน ซึ่งเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกำหนดข้อตกลง และมีความสามารถในการจัดหาวัคซีนในปริมาณมากให้ได้เพียงพอต่อความต้องการได้

เวียดนามเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการประกาศล็อกดาวน์หลายพื้นที่

ปัจจุบัน เวียดนามกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในเวียดนามพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อวันละหลักสิบ ก็กลายเป็นหลักหมื่น นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม ยังได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอกที่ 4  เฉพาะในนครโฮจิมินห์นั้น ยอดผู้ป่วยโควิดสะสมเกือบ 260,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 10,685 ราย ส่วนกรุงฮานอย เมืองหลวง มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยวันละ 50 คน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 4,100 คน โดยเจ้าหน้าที่พยายามควบคุมการระบาดอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเหมือนในนครโฮจิมินห์ที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด

 

รัฐบาลเวียดนามบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคทั่วประเทศ และส่งผลให้แรงงานรวมถึงบริษัทหลายแห่งต้องระงับการผลิตชั่วคราว ทำให้ยอดส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกร่วงลงในเดือนส.ค. ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ สภาหอการค้าสหภาพยุโรป หรือ ยูโรแชม (EuroCham) ออกมาเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวียดนามเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เร็วขึ้น รวมถึงหาแนวทางให้สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างราบรื่น ผ่อนคลายการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน(ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์) และเร่งดำเนินการให้บรรดานักธุรกิจและนักลงทุนที่ฉีดวัคซีนแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศได้

 

ปัจจุบัน เวียดนามมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่ำสุดในเอเชีย มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเพียง 4.3% จากประชากร 98 ล้านคน

 

ข้อมูลอ้างอิง