กงสุลใหญ่ "ชิงต่าว"ลุยหนัก ขยายตลาดสินค้าไทย รุกภาคเหนือแดนมังกร

01 ก.ค. 2565 | 01:18 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 08:42 น.

“ซานตง” เป็นมณฑลที่มีความสำคัญของจีน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในมณฑลสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีเมืองท่าที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ เมืองชิงต่าว เมืองรื่อจ้าว เมืองเวยไห่ และ เมืองเยียนไถ เมื่อโฟกัสไปถึงความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนระหว่างมณฑลซานตงและไทยน่าติดตามยิ่ง

 

กงสุลใหญ่ \"ชิงต่าว\"ลุยหนัก ขยายตลาดสินค้าไทย รุกภาคเหนือแดนมังกร

 

โดย นางสาวนภัสพร​ ภัทรีชวาล  กงสุลใหญ่​ ณ​ เมืองชิงต่าว​  สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงบทบาทการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทางการท้องถิ่นมณฑลซานตงและประเทศไทย การให้การสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และด้านต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ

 

กงสุลใหญ่​ ณ​ เมืองชิงต่าว กล่าวว่า ได้เข้ารับหน้าที่กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เมื่อปี 2560 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ได้รับเกียรติจากทางการเมืองชิงต่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองชิงต่าวเป็นเมืองนานาชาติ มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยได้มีการจัดประชุมฯทุกปี ทำให้มองเห็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี เช่น ริเริ่มให้เกิดการลงนามความตกลงร่วมมือทางด้านการศึกษา การท่าเรือระหว่างท่าเรือไทยและท่าเรือจีนในพื้นที่มณฑลซานตง ได้แก่ ท่าเรือรื่อจ้าว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Shan dong Port Group แล้ว

 

นภัสพร  ภัทรีชวาล

 

 

อีกทั้งได้ส่งเสริมให้มีการเพิ่มพูนการขนส่งสินค้าระหว่างกันให้มากขึ้น เท่ากับเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างไทย-มณฑลซานตง เพื่อให้สินค้าไทยได้กระจายสู่ภาคเหนือของจีน โดยมีกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการดำเนินการบริหารจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับแรงเสริมจากการเปิดศูนย์ RCEP ของเมืองชิงต่าว

 

เตรียมลงนามข้อตกลงการศึกษาทางทะเล

ในส่วนของเรื่องความตกลงด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมทางทะเลของไทย และมหาวิทยาลัยหนึ่งในเมืองชิงต่าว ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับเมืองและระดับประเทศในด้านการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนวัตกรรมทางทะเล ซึ่งขณะนี้สถาบันการศึกษาทั้งสองอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงระหว่างกัน ในเร็ว ๆ นี้ จะลงนามความตกลงกันได้ จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือนี้จะไปช่วยสนับสนุนความสามารถของไทยในด้านนวัตกรรมทางทะเลได้เป็นอย่างดี

 

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับนวัตกรรมทางทะเลของเมืองชิงต่าว เมื่อ บริษัทเอกชนในเมืองชิงต่าวได้เปิดตัวเรือเพาะเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาดระวางน้ำ 100,000 ตัน ซึ่งเป็นเรือเพาะเลี้ยงปลาอัจฉริยะลำแรกของโลก มีมูลค่ากว่า 450 ล้านหยวน สามารถควบคุมแสง ออกซิเจน คุณภาพน้ำ และให้อาหารปลาแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถย่นวงจรชีวิตได้ 1 ใน 4 ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กงสุลใหญ่ \"ชิงต่าว\"ลุยหนัก ขยายตลาดสินค้าไทย รุกภาคเหนือแดนมังกร

 

ส่งเสริมผลไม้ไทยต่อเนื่อง

ด้านการค้า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนเป็นอันดับ 1 รวมทั้งสินค้าผลไม้อื่น ๆ ที่สามารถผลักดันให้นำเข้าจากไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือของจีน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากไทยมากกว่าพื้นที่มณฑลทางภาคใต้ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด เมื่อไม่นานมานี้ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการค้าผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว

 

เฉพาะทุเรียนในปี 2564 มีการนำเข้ามาบริโภคในมณฑลซานตงประมาณ 8,630.4 ตัน (ม.ค.-พ.ย. 2564) ซึ่งยังสามารถผลักดันได้อีกมาก รวมถึงอาหารไทยในเมืองชิงต่าวและพื้นที่มณฑลซานตง โดยริเริ่มเสนอแนวคิด “อาหารไทยและผลไม้เข้าได้กับวิถีของชาวซานตง” จากคนในท้องถิ่นนิยมดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างมื้ออาหารที่เป็นงานเลี้ยง และในส่วนของคนจีนจะดื่มนํ้าชาเกือบตลอดวัน

 

“สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงเสนอแนวคิดว่า สินค้าไทยสามารถเข้ากันได้กับวิถีชีวิตของชาวจีนในพื้นที่ หากจะดื่มชาคู่กับการทานผลไม้ไทยที่มีรสหวาน หอม อร่อย รสชาติจะยิ่งกลมกล่อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน อาหารไทยก็เข้ากับเบียร์ชิงต่าว หรือสุราจีนที่ผลิตในมณฑลซานตง รวมทั้งเบียร์ไทย”

 

ผนึกสื่อจีนทำคลิปเจาะตลาด

ทั้งนี้สถานกงสุลใหญ่ฯ ยังร่วมมือกับสื่อที่มีชื่อเสียงระดับประเทศของจีน ที่มีสาขาในเมืองชิงต่าว คือ China Recommendation ทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน โดยใช้ชื่อโครงการว่า “A day with Consul-General” ซึ่งคาดว่าจะมีคลิปวิดีโอสั้นออกเผยแพร่ประมาณ 10 ตอน เป็นการส่งเสริมการค้าผลไม้ไทย อาหารไทย ผ้าไหมไทย และแนะนำภารกิจของสถานกงสุลใหญ่ฯ โดยได้ยํ้าแนวคิดเดิมที่เสนอว่า “อาหารไทยและผลไม้ไทยเข้ากับวิถีจีนฯ”

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ชาวจีนไม่สะดวกในการเดินทางไปประเทศไทยมากนัก ด้วยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ระหว่างคอยโอกาสที่จะเข้าไปเที่ยวเมืองไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงได้นำเสนอแนวคิดใหม่ ให้ไปปิกนิกด้วยอาหารไทยและผลไม้ไทย หากไปเที่ยวชายทะเลที่ใด ก็สามารถนำอาหารไทยไปทานได้ โดยทานควบคู่กับการดื่มนํ้ามะพร้าวหรือเครื่องดื่มเฮลซ์บลูบอยของไทย ที่มีสีสันสดใสเข้ากับบรรยากาศของทะเลได้เป็นอย่างดี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย จะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวทะเลไทยที่ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี ต่อไป รวมถึงนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหมไทย โดยเชิญชวนให้ชาวจีนซื้อผ้าไหมให้มากขึ้น

 

“ทางการเมืองชิงต่าวและมณฑลซานตงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ออกนโยบายส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีในหลายพื้นที่ของมณฑลซานตง จึงเล็งเห็นว่า จะเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย”

 

ชิงต่าวแหล่งลงทุนยอดฮิต

กงสุลใหญ่​ ณ​ เมืองชิงต่าว กล่าวอีกว่า ชิงต่าวเป็นเมืองที่มีบรรยากาศเหมาะสมสำหรับการลงทุนอันดับต้น ๆ ของจีน มีท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีปริมาณการขนถ่ายสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก มีประชากรทั้งสิ้นเกือบ 10 ล้านคน และเป็นเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญระดับประเทศ อาทิ

 

การประชุม Global Health Forum of Boao Forum for Asia ในปี 2562 และการประชุม Shanghai Cooperation Organization (SCO) ครั้งที่ 18 ในปี 2561 เป็นต้น โดยเมืองชิงต่าว ได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเมืองพัทยา

 

นอกจากนี้ ยังได้รับอำนาจในการบริหารเศรษฐกิจของตนเอง เป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นท่าเรือที่สำคัญของจีน เป็นฐานทัพเรือดำนํ้าที่ใหญ่ที่สุดในจีน อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งการผลิตสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 70 แบรนด์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า Haier Hisense และเบียร์ชิงต่าว เป็นต้น เมืองชิงต่าวยังเป็นฐานที่ตั้งของบริษัทอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง (CRRC) ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ล่าสุด ได้ประสบความสำเร็จในการผลิตรถไฟฟ้าที่มีความเร็วสูงถึง 486.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงที่สุดในโลก