บทความโดย : นายหัวอัทธ์
Tik Tok เริ่มออกสู่ตลาดออนไลน์ทั่วโลก เมื่อกันยายน 2559 ที่ปัจจุบัน (2565) มีผู้ใช้จำนวน 1.5 พันล้านคน มากกว่า 150 ประเทศ (Danny Maiorca Jan 4, 2023) อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้แพลต์ฟอร์มมากสุดยังเป็น FB (Facebook)จำนวน 2.9 พันล้านคน ยูทูป 2.2 พันล้านคน (Tik Tok Statistics updated February 2023) Tik Tok มาเป็นอันดับสาม ตามด้วยอินตาแกรม 1.4 พันล้านคน
แม้ว่า Tik Tok มีคนใช้มากก็ตาม แต่ก็มีอย่างน้อย 7 ประเทศที่แบนห้ามใช้Tik Tok คือ “ประเทศในยุโรป” ห้ามเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการยุโรปใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลต้องการปกป้องข้อมูล
“อินเดีย” ห้ามใช้ตั้งแต่มิถุนายน 2563 ด้วยเหตุผลความมั่นคง “แคนาดา” ห้ามใช้กับอุปกรณ์หน่วยงานรัฐฯ ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยเหตุผลป้องกันการโจมตีด้านข้อมูลของประเทศ “อัฟกานิสถาน” ห้ามใช้ตั้งแต่เมษายน 2565 ด้วยเหตุผลศีลธรรม
“อินโดนีเซีย” ห้ามใช้ตั้งแต่กรกฎาคม 2561 ด้วยเหตุผลศีลธรรม “บังกลาเทศ” ห้ามใช้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2561 เหตุผลศีลธรรม และ “สหรัฐฯ” ห้ามใช้ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้นมา โดยเริ่มจากที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ออกเป็นคำสั่งผู้บริหารเมื่อปี 2563 ด้วยเหตุผลความมั่นคง
จากจำนวนประเทศที่แบน Tik Tok ข้างต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประเทศคือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย 2 เหตุผลที่แตกต่างกันคือ ข้อมูลส่วนตัว ความลับและความมั่นคงของประเทศ (ชาติตะวันตกและอินเดีย) และเหตุผลการล่อแหลมต่อศีลธรรมของเยาวชน (กลุ่มประเทศมุสลิม เอเชียใต้ และอาเซียน)
Tik Tok เข้ามาในสหรัฐฯ ปี 2018 และเริ่มเป็นประเด็นในสหรัฐฯ “สมัยประธานาธิบดีทรัมป์” เมื่อมกราคม 2019 เมื่อสถาบัน “Peterson Institute for International Economics (PIIE)” ที่เป็นหน่วยงานวิจัยด้านต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า Tik Tok สามารถส่งข้อมูลกลับไปยังบริษัทเจ้าของ “Bytedance” ที่ประเทศจีน และให้กับรัฐบาลจีนได้ (เพราะตาม “China National Intelligence Law” บอกว่าองค์กรหรือประชาชนต้องสนับสนุน ช่วยเหลือและร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการให้ข้อมูลข่าวสาร) (BBC, 3 March 2023 )
หลังจากนั้นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 3 คนคือ Marco Rubio, Tom Cotton และ Chuck Schumer ให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบด่วน ตามมาด้วยประธานาธิบดีทรัมป์ออก “คำสั่งผู้บริหารให้จัดการกับภัยคุกคามที่เกิดจาก TikTok (Executive Order on Addressing the Threat Posed by TikTok)” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 โดยใช้กฎหมายอ้างอิง 3 ฉบับคือ 1.International Emergency Economic Powers Act (1977) 2.the National Emergencies Act (1976) และมาตรา 301 ของ Trade Act (1974)
ด้วยเหตุผลว่า Tik Tok “1.รวบรวมข้อมูล” ตำแหน่ง ประวัติการท่องเว็บ และการค้นหา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ของชาวอเมริกัน “2.เพื่อแบล็กเมล์” และจารกรรมข้อมูลขององค์กรของสหรัฐฯ
“3.เซ็นเซอร์เนื้อหา” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่ามีความละเอียดอ่อนทางการเมือง เช่น การประท้วงในฮ่องกง การปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ และบิดเบือนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่หักล้างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปี 2019
หลังจากนั้นมีการเสนอกฎหมาย “National Security and Personal Data Protection Act 2019” โดยวุฒิสมาชิก Josh Hawley (ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภาฯ, ที่มา : National Security and Personal Data Protection Act of 2019, GovTrack.us) และกระทรวงกลาโหมก็แบนในอุปกรณ์ทางทหาร
“สมัยประธานาธิบดีไบเดน” ยังคงติดตามแพลตฟอร์ม Tik Tok อย่างใกล้ชิด จนสองพรรคการเมืองในสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกฎหมาย “Restricting the Emergence of Security Threats that Risk Information and Communications Technology (RESTRICT)” เพื่อจัดการกับเทคโนโลยีของจีน คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ รัสเซีย และเวเนซุเอลา โดยให้อำนาจกับกระทรวงพาณิชย์จัดการขั้นเด็ดขาด และให้ความรู้แก่สาธารณะและชุมชนธุรกิจเกี่ยวกับภัยคุกคาม
สรุปการที่สหรัฐฯ ต้องแบบเทคโนโลยีจีน เพราะ 1.ป้องกันการขโมยข้อมูล โดยการแบนอุปกรณ์สื่อสารจีน ผ่านคณะกรรมการสื่อสารสหรัฐฯ (Federal Communications Commission : FCC) ที่ห้ามใช้อุปกรณ์ Huawei, ZTE และอุปกรณ์สื่อสารของจีนด้วยเหตุผลการจารกรรมข้อมูล ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชาติความปลอดภัย 2.ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในทุกมิติ โดยการแบน Tik Tok และเทคโนโลยีอื่น 3.ศักยภาพเทคโนโลยีสหรัฐฯ สู้จีนไม่ได้
โดย The Australian Strategic Policy Institute ประเทศออสเตรเลีย (2023) มีการเปรียบเทียบการพัฒนาเทคโนโลยีจีนกับสหรัฐฯ พบว่า ในจำนวนเทคโนโลยี 44 ชิ้นงาน จีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีเหนือกว่าสหรัฐฯ 37 ชิ้นงาน ในขณะที่สหรัฐฯ เหนือกว่าจีนเพียง 7 ชิ้นงาน
นั่นแสดงว่า ปัจจุบันจีนมีส่วนแบ่งตลาดการพัฒนาเทคโนโลยี 84% สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งเพียง 16% เท่านั้น และยังสรุปได้ว่าปัจจุบัน “การพัฒนาเทคโนโลยีจีนแซงหน้าสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Toronto University's Lab (On March 22, 2021) รายงานว่า Tik Tok ไม่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ สอดคล้องกับการศึกษาของ Georgia Institute of Technology's Internet Governance Project พบว่า Tik Tok ไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน (“TikTok and US national security” โดย Dr. Milton L Mueller และ Dr Karim Farhat, Georgia Institute of Technology, School of Public Policy, Internet Governance Project)