อินเดียโกยเงินจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (1)

22 เม.ย. 2566 | 02:30 น.

อินเดียโกยเงินจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3880

ข่าวอินเดียซื้อนํ้ามันดิบจากรัสเซียในราคาพิเศษนับแต่ปีก่อน ทำให้ท่านผู้อ่านหลายคนอาจคิดต่อได้ว่า อินเดียได้รับประโยชน์มากมาย ไล่ตั้งแต่การกดภาวะเงินเฟ้อจนอยู่หมัด การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท้องถิ่นจากต้นทุนด้านพลังงานที่ตํ่า และอื่นๆ

แต่เมื่อหลายวันก่อน ผมได้พูดคุยกับคนในวงการพลังงาน และโยงไปถึงประเด็นนี้ ผมก็เลยได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีกหลายประการ จนทำให้ผมอดใจไม่ไหว ต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และมาพูดคุยในประเด็นที่ “ไกลกว่าจีน” กันในวันนี้ ...

ภายหลังรัสเซียบุกยูเครน เมื่อต้นปี 2022 ได้ระยะหนึ่ง สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ก็รวมตัวกันประกาศแซงชั่นทางเศรษฐกิจ และบอยคอตไม่ค้าขายกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย (หากราคาสูงกว่าที่กำหนด) อีกด้วย 

เพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จึงได้ประกาศปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์และท่าทีที่มีกับสหภาพยุโรป และเดินหน้านโยบาย “มุ่งตะวันออก” (Look East) อย่างจริงจัง

 

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวรัสเซียบรรลุความตกลงในการซื้อขายนํ้ามันดิบ กับจีน และ อินเดีย ในราคามิตรภาพที่ถูกกว่าของตลาดโลก และเปิดให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลอื่นที่มิใช่เงินเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย 

ส่งผลให้เงินรูปีของอินเดีย รูเบิ้ลของรัสเซีย และ เดอร์แฮมของยูเออี ถูกใช้ในเวทีการค้าพลังงานเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่เป็นมาก่อน ซึ่งอาจจะกลายเป็นเงินสกุลใหม่ในตะกร้าเงินของกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในอนาคต

การส่งออกนํ้ามันดิบของรัสเซียไปยังจีนและอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถิติ ณ เดือนมีนาคม 2023 ระบุว่า การส่งออกดังกล่าวมีสัดส่วนเป็นกว่า 90% ของการส่งออกนํ้ามันดิบโดยรวมของรัสเซีย 

จีนถือเป็นประเทศนำเข้านํ้ามันดิบอันดับแรกของโลกอยู่แล้ว ขณะที่ในช่วงปีที่ผ่านมา อินเดีย ก็ได้เพิ่มบทบาทของตนเองในวงการพลังงานโลก 

ในด้านหนึ่ง อินเดียได้กลายเป็นประเทศผู้นำเข้านํ้ามันดิบรายสำคัญ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อินเดียก็พัฒนาตนเองขึ้นเป็นผู้ส่งออกนํ้ามันสำเร็จรูปรายใหญ่ และสร้างรายได้มหาศาลจาก “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นในชั่วกระพริบตา

ในอดีต อินเดีย นำเข้านํ้ามันดิบจากอิรักและซาอุดิอาระเบียเป็นหลัก โดยนำเข้าจากรัสเซียน้อยมาก  เหตุเพราะระยะทางที่ไกลและการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ (เรือขนส่งมีขนาดเล็ก) ทำให้การขนส่งนำมันดิบมีค่าใช้จ่ายที่สูง 

แต่จากตัวเลขการนำเข้านํ้ามันดิบจากรัสเซียในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า อินเดียนำเข้านํ้ามันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขยายตัวกว่า 20 เท่าตัว และก้าวแซงหน้าการนำเข้าจากแชมป์และรองแชมป์เก่าไปได้นับแต่เดือนตุลาคม 2022 

                     อินเดียโกยเงินจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (1)

จากสถิติการนำเข้านํ้ามันดิบจากรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาก็ทะยานขึ้นเฉียด 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันเข้าให้แล้ว

อินเดียถือเป็น “สุดยอดนักคิด” ที่นำไปสู่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ บางคนอาจมองว่าอินเดียเป็น “นักฉวยโอกาส” ตัวยงที่สามารถ “ทำเงิน” จากช่วงที่โลกเผชิญวิกฤติพลังงานได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ 

เพราะไม่เพียงแต่ความสามารถในการเจรจาซื้อหานํ้ามันดิบราคาถูก มากลั่นเป็นนํ้ามันสำเร็จรูปเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่อินเดียยังผลิตนํ้ามันสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกอีกด้วย 

ที่เจ็บแสบยิ่งกว่าก็คือ อินเดียส่งนํ้ามันที่กลั่นแล้วไปขายประเทศในยุโรป จากสถิติพบว่า อินเดียส่งออกนํ้ามันดีเซล และนํ้ามันเครื่องบินไปยังตลาดยุโรป และมีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้น สหภาพยุโรปนำเข้านํ้ามันดีเซลและนํ้ามันเครื่องบินจากอินเดียเฉลี่ยราว 154,000 บาร์เรลต่อวัน 

แต่ภายหลังการลงดาบแบนนํ้ามันดิบของรัสเซีย สหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ตุรกี เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็เพิ่มการนำเข้านํ้ามันจากอินเดียอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้การส่งออกนํ้ามันของอินเดียไปยุโรปขยายตัวถึง 200,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 30% ของการส่งออกนํ้ามันโดยรวม จากเดิมที่สัดส่วนอยู่ที่ราว 20% ในช่วงก่อนหน้านี้

จำแนกเป็นการส่งออกนํ้ามันดีเซลเพิ่มขึ้นกว่า 30% เป็นราว 150,000-167,000 บาร์เรล และนํ้ามันเครื่องบินจากวันละ 40,000-42,000 บาร์เรลเป็น 70,000-75,000 บาร์เรลในปีนี้ ส่งผลให้ยุโรปพึ่งพานํ้ามันเครื่องบินจากอินเดียถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

เท่านั้นไม่พอ อินเดียยังเพิ่มการขนส่งนํ้ามันแก๊สสุญญากาศ (Vacuum Gas Oil) ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิง ไปยังตลาดสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน อินเดียส่งออก VGO ไปยังสหรัฐฯ เพียง 500 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น แต่หลังจากนั้น พบว่า อินเดียขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าตัว หรือราว 11,000-12,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกโดยรวมของอินเดีย

คราวหน้าผมจะพาไปดูกรณีการนำเข้านํ้ามันจากอิหร่าน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกันครับ ...