ปัจจุบัน อู๋วเจียงไจ้ ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติ ที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายในชุมชนเมือง มองหาความเป็นธรรมชาติที่เงียบสงบ และชีวิตที่เรียบง่าย รวมทั้งความงดงามของชีวิตที่แท้จริงในยุคหลังโควิด ซึ่งแตกต่างจากการเมืองโบราณและสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบดั้งเดิม
พื้นที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมในโครงการมีความหลากหลายมาก อาทิ ท่าเรือตกปลา ถนนน้ำจิ้มและไวน์ ศาลากลางหมู่บ้าน โรงละครเก่า คลาสเรียนเปียโน แกลเลอรีของเกษตรกร และกิจกรรมสืบสานทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
กลุ่มติงตู่พยายามบูรณาการสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมพิเศษเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและแปลกใหม่แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบห้องเรียนเปียโนที่อยู่ในพื้นที่จุดชมวิวของหมู่บ้าน พร้อมทั้งบริจาคเปียโนคุณภาพดี 2 ตัวให้หมู่บ้าน และเชิญอาสาสมัครที่มีความรู้มาเป็นครูสอนเปียโน
โดยเด็กในหมู่บ้านที่สนใจสามารถเข้าคอร์สเรียนเปียโนได้ฟรี แต่ไม่ใช่เพื่อสร้างนักเปียโนมืออาชีพ แต่โครงการหวังให้เด็กเหล่านี้ ได้มีโอกาสซึมซับการเรียนรู้ศิลปะได้ เฉกเช่นเดียวกับเด็กในเมือง
และยังวางแผนจะขยายพื้นที่แกลเลอรีเกษตรกร โดยเชิญครูจากสถาบันศิลปกรรมมาฝึกอบรมการวาดภาพและระบายสีแก่เกษตรกรในหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่จากการขายให้กับนักท่องเที่ยว
โครงการยังมุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะให้เกิดขึ้น อาทิ โรงละครทุ่งข้าวสาลี (Wheat Field Theater) โดยเชิญคนกลุ่มน้อยในหมู่บ้านที่มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นมาเป็นผู้บรรยายและนักแสดง รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนาและกิจกรรมพิเศษ
เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ รัฐบาลเมืองจุนยี่ยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Brilliant Wujiangzhai Intangible Cultural Heritage Carnival” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของหมู่บ้าน
ตลอด 10 วันของการจัดงาน เจ้าภาพได้จัดกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ การสัมมนา การสร้างเวทีการสั่งสมประสบการณ์ และการนำเสนอนวัตกรรมมรดกทางวัฒนธรรมฯ
ขณะเดียวกัน พื้นที่หลักถูกออกแบบภายใต้หลายแนวคิดหลัก อาทิ วัฒนธรรมชา วัฒนธรรมของชาวอู๋ว การแต่งกายสไตล์จีน และหัตถศิลป์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเสนอชิ้นงานพิเศษ สินค้า และบริการ
รวมทั้งยังจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย ซึ่งนำไปสู่การจัดแสดงผลงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมฯ กว่า 50 ชิ้น ทักษะด้านหัตถกรรม การแสดงทางวัฒนธรรม และคาร์นิวัลด้านอาหารจานหลัก ขนมขบเคี้ยว ชา และเครื่องดื่มอื่น
เหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมงานสามารถสัมผัสประสบการณ์เชิงลึกมากมาย ที่ไม่อาจหาได้ในพื้นที่อื่น อาทิ ตุ๊กตาไหม เกี๊ยวสีเหลือง เป็ดอบไอน้ำด้วยแป้งเย็น และ ผิวข้าวเฉียนเป้ย (Qianbei)
ไปจนถึงการร่วมกิจกรรมชิมชา การผลิตชาใหม่ การปักหางม้า ลูกสน และอื่นๆ การทำผ้าบาติกและผ้ามัดย้อม การผลิตกระดาษทำมือ การตัดกระดาษ การผลิตเครื่องประดับเงิน และอื่นๆ
นอกจากนี้ ในแต่ละวันยังมีริ้วขบวนคาร์นิวัลทางวัฒนธรรมที่สุดพิเศษ อันประกอบด้วย ขบวนแห่เทพเจ้า เพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ต้ง (Dong) การเก็บผักแบบเฉียนเป้ย รำคนแคระ รำโคมไฟปลา พิธีประทีป การปิดตาตีไข่ และการปรบมือสี่ด้าน
ประการสำคัญ การนำเสนอทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานของมหาวิทยาลัยชนชาติแห่งกุ้ยโจว ที่นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อกับศิลปะแห่งชาติ
กิจกรรมนี้จึงไม่เพียงช่วยให้ชาวโลก ได้มีโอกาสสัมผัสและปกป้องวัฒนธรรมของกุ้ยโจวที่ทรงคุณค่า แต่ยังทำให้ “ดอกไม้” แห่งวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเปี่ยมด้วยสีสันของกุ้ยโจว “บานสะพรั่ง” อีกด้วย
กลับมาที่เสน่ห์ของโครงการ “อู๋วเจียงไจ้” ทีมงานในพื้นที่ยังคิดค้นและเปิดร้านจำหน่าย “ของฝากสุดพิเศษ” ของหมู่บ้านอู๋วเจียง ที่ไม่ลอกเลียนแบบได้ อาทิ ของที่ระลึกที่ทำจากวัสดุและแฝงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น
ที่ผมชอบในความสร้างสรรค์ก็คือ “กล่องเก็บเสียง” จากมุมต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงของหมู่บ้าน ซึ่งทำให้ผมอดนึกถึง “ของวิเศษ” ของโดราเอมอนไม่ได้
หรือแม้กระทั่งจัดพื้นที่กลางแจ้งขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการตั้งแคมป์ โดยมีพื้นที่ก่อกองไฟสี่เหลี่ยม (Square Bonfires) ขนาดใหญ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมารับไออุ่น และใช้เวลาร่วมกันท่ามกลางวิวทิวทัศน์อันเป็นธรรมชาติยามค่ำคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และ ช่วงฤดูหนาว
การจัดทัวร์ยามราตรี ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมไปถึงการจัดแสดงโดรน การแสดงแสงสีขั้นบันได และพิธีจุดไฟบนฝ่ามือ
มาถึงปัจจุบัน อู๋วเจียงไจ้ ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่รับผิดชอบต่อสังคมและขับเคลื่อนนโยบาย “การสร้างความกระชุ่มกระชวย” และแคมเปญ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ผ่านการท่องเที่ยว
และโดยที่โครงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับผู้คนในหมู่บ้านเป็นหัวใจ เราจึงเห็นโมเดลธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความไว้วางใจ การร่วมมือดำเนินงาน การแลกเปลี่ยน และการก่อสร้างร่วม”
ความสำเร็จของโครงการจึงสะท้อนถึง “พลังแฝง” ที่เกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งการดึงเอาศักยภาพด้านวัฒนธรรม ความเป็นธรรมชาติ และอื่นๆ ในพื้นที่มาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่สามารถกลายเป็น “ต้นแบบ” ของพื้นที่อื่นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังไม่เพียงแก้ไขปัญหาการจ้างงาน แต่ยังเป็นแหล่งพึ่งพิงของหลายคนในการเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจ แถมยังกำลังดึงดูดแรงงานให้กลับสู่ท้องถิ่น แม้กระทั่งบัณฑิตยุคใหม่ก็เริ่มหันมาเลือกประกอบอาชีพในพื้นที่
โมเมนตัมนี้กำลังขยายวงไปยังพื้นที่ข้างเคียง และยังนำไปสู่การเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัย การเป็นผู้ประกอบการ และการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ในระยะยาว ...