นอกจากรัสเซียแล้ว อินเดียยังพยายามกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ ยกเลิกการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เราไปส่องรายละเอียดกันครับ ...
ในอดีต อิหร่านเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกอยู่ที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในกรณีของอินเดีย อิหร่านเคยเป็นแหล่งน้ำมันดิบอันดับ 2 ของอินเดียในระหว่างปี 2007-2009 และอันดับลดลงเป็นอันดับ 3 ตามหลังซาอุดิอาระเบียและอิรักในเวลาต่อมา
และภายหลังจากการหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน นับแต่ปี 2018 การส่งออกของอิหร่านก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเดียต้องหันไปนำเข้าน้ำมันดิบในราคาที่สูงจากสหรัฐฯ เป็นการทดแทน คล้ายกับที่ยุโรปโดนบีบหลังการหยุดจัดซื้อพลังงานจากรัสเซียในช่วงปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้น สหรัฐฯ ก็อาจรู้สึกว่า รัสเซียเป็น “ภัยคุกคาม” ที่อันตรายกว่าอิหร่าน และเกรงว่า การบอยคอตรัสเซียจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันดิบในตลาดโลก “วิกฤติพลังงาน” อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อของโลกถีบตัวสูงขึ้น จึงได้ส่งทีมไปเจรจาถึงกรุงเตหะราน และประกาศยกเลิกการแซงชั่นอิหร่านเมื่อปีก่อน
นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย และ อิบราฮิม ไรซี่ ประธานาธิบดีของอิหร่าน ก็ใช้โอกาสการเข้าร่วมประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) เมื่อกลางเดือนกันยายน 2022 ที่ประเทศอุซเบกิสถาน หารือถึงความเป็นไปได้ ที่อินเดียจะกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านอีกครั้ง
กระแสข่าวในวงการพลังงานระบุว่า การเจรจาดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งสองประเทศบรรลุความตกลงในการค้าขายน้ำมันดิบระหว่างกัน โดยอินเดียได้น้ำมันดิบในราคามิตรภาพอีกด้วย
จากสถิติของปี 2023 อินเดีย ได้เริ่มกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มขึ้นอย่างมาก และลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ลงถึงครึ่งหนึ่งจากเดิม (ขณะที่จีนก็จัดซื้อน้ำมันดิบราคามิตรภาพจากอิหร่านผ่านมาเลเซียและยูเออีเช่นกัน)
หากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกบีบรัดรัสเซียในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็คาดว่าจะส่งผลให้อิหร่าน มีบทบาทในการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของอินเดียอีกครั้งในอนาคต
เหตุการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนว่า การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสลับซับซ้อนกว่าที่คาดคิดไว้ และอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรารับรู้ผ่านสื่อ รวมทั้งยังอาจส่งผลกระทบออกไปกว้างไกลในหลายมิติ
ในด้านหนึ่ง สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเลือกใช้มาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจเพื่อหวัง “ขีดเส้นขีดวง” รัสเซียและอิหร่านในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบเพื่อลดรายได้ของ “ฝ่ายตรงข้าม”
ปัจจุบัน รัสเซีย และ อิหร่าน พึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 40% ของรายได้โดยรวมของประเทศ โดยสหรัฐฯ ต้องการใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพื่อผลของปัจจัยทางการเมือง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สหรัฐฯ หวังว่าการจำกัดรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ ก็จะสามารถอลดบทบาทของรัสเซียและอิหร่าน ในเวทีการเมืองโลกอย่างที่เคยทำสำเร็จนั่นเอง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ก็ยังไม่กล้าเดินเกมส์แบบเข้มข้น ห้ามการส่งออกทั้งรัสเซียและอิหร่านแบบสมบูรณ์แต่อย่างใด
แถมยังยอม “หลี่ตาข้างหนึ่ง” เปิดโอกาสให้อินเดียสามารถซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียและอิหร่าน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (จากยูเออี) แบบ “สองมาตรฐาน” ทั้งที่รู้ดีว่า น้ำมันสำเร็จรูปที่ยุโรปนำเข้าจากอินเดียมีแหล่งวัตถุดิบมาจากรัสเซีย
กรรมจึงไปตกอยู่กับประเทศในยุโรป ที่ต้องแบกรับภาระซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากอินเดียในราคาที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ที่มากขึ้นจากการขนส่งหลายต่อและระยะทางที่ยาวขึ้น
นอกจากนี้ การเข้าร่วมประชุมด้านพลังงานของผู้แทนจากประเทศสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย และ ยูเออี ที่เมืองบังกาลอร์ อินเดียในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังตอกย้ำถึงหลักคิดของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ที่ต้องการสนับสนุนให้อินเดียได้รับประโยชน์จากการแปรรูป และส่งออกพลังงานในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ ดีลการซื้อขายพลังงานรัสเซีย-อินเดีย และอิหร่าน-อินเดีย รวมทั้งรัสเซีย-จีน และ ซาอุ-จีน ในราคามิตรภาพด้วยเงินสกุลท้องถิ่น ทำให้สหรัฐฯ พลอยโดน “หางเลข” ไปเป็นอันมาก เพราะทำเอา “เปโตรดอลล่าร์” ที่ใช้กันมากราวครึ่งศตวรรษ “อ่อนเปลี้ย” อย่างเห็นได้ชัด
ผมยังอยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่าน ติดตามบทบาทของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้การนำของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง BRICs และ SCO ที่นอกจากเศรษฐกิจกำลังเติบใหญ่แล้ว ยังหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่มิใช่เงินเหรียญสหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นำไปสู่การปรับนโยบาย “มุ่งสู่ตะวันออก” ของรัสเซีย กอปรกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของอินเดียกับหลายขั้วอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และ รัสเซีย อาจทำให้เราสรุปได้ว่า อินเดียได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในเวทีพลังงานโลก และได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นอกจากประโยชน์ในระยะสั้นแล้ว อินเดียอาจจะก้าวขึ้นมาคานอำนาจกับจีนในภูมิภาค และอาจกลายเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ของโลกในระยะยาว ...