เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์จีน (2)

23 ก.ค. 2566 | 00:30 น.

เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์จีน (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3907

เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์จีน (2)
กล่าวถึงปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมไซไฟจีนบางส่วนไปแล้ว ผมขอชวนทุกท่านไปคุยกันต่อเลยครับ ...

นอกเหนือจากรัฐบาลกลางของจีน รัฐบาลท้องถิ่นของหลายมณฑล/หัวเมือง ก็ยังพยายามคว้าโอกาสทองนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น นครเซี่ยงไฮ้ก็นำเสนอสัปดาห์ไซฟิล์ม (Sci-Film Week) เป็นครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (Shanghai International Film Festival) ครั้งที่ 25 เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2023 

โดยจัดในรูปแบบของการประชุมสัมมนาและกิจกรรมพิเศษมากมาย อาทิ การนำเสนอหนังไซไฟคลาสสิกแบบไดร้ฟอิน เพื่อสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาภาพยนตร์ไซไฟของจีนสู่สายตาของชาวต่างชาติ
อีกตัวอย่างก็ได้แก่ นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ด้านซีกตะวันตกของจีน ซึ่งหลายคนรู้จักในนามของ “บ้านเกิดของหมีแพนด้า” ก็ประกาศเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ  

โดยมุ่งหวังที่จะต่อยอดจากจุดเด่นที่มีอยู่ อาทิ การมีสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการเป็นแหล่งผลิต “Science Fiction World” วารสารนิยายวิทยาศาสตร์รายเดือนที่เก่าแก่และเป็นที่นิยมมากสุดของจีน

นอกจากนี้ ในปี 2023 เฉิงตูยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลก (World Science Fiction Convention) หรือ “Worldcon” ครั้งที่ 81 ที่จะจัดให้มีขึ้นระหว่าง 18-22 ตุลาคม ณ พิพิธภัณฑ์นิยายวิทยาศาสตร์โลก 

นี่ก็เป็นการตอกย้ำถึงความพยายามที่จะเสริมสร้างการเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านไซไฟ

ทั้งนี้ งานนี้คาดว่าจะมีนักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์และบุคคลชั้นนำในวงการจากทั่วโลกไปรวมตัวกัน อาทิ หลิว ซือซิน (Liu Cixin) ผู้แต่ง “The Wandering Earth” ซึ่งเคยได้รับรางวัลฮิวโก (Hugo Award) ไปก่อนหน้านี้ เซอร์เกย์ ลูเคียเนนโค (Sergey J. Sawyer) และโรเบิร์ต เจ. ซอว์เยอร์ (Robert J. Sawyer)

สิ่งนี้สะท้อนว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของธุรกิจและผู้คนในวงการนิยายวิทยาศาสตร์จีนที่มีต่อโอกาสทางธุรกิจและศักยภาพของอุตสาหกรรมฯ ในวงกว้าง

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการกำหนดนโยบายที่ผ่านมา ก็ทำให้ผมรู้สึกว่า รัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมฯ ในระยะยาว 
และจะใช้ “บทบาทภาครัฐ” ซึ่งเป็นจุดแข็งที่มีอยู่ในการเดินหน้าเสริมสร้างระบบนิเวศ ปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรม สนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีแอพ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมฯ พลิกฟื้นและกลับมาเติบโตแรงอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งคำว่า “ไซไฟ” ก็ตกอยู่ในกระแสความสนใจจนกลายเป็น “คำฮิต” ที่ผู้คนค้นหาและกล่าวถึงในโลกอินเตอร์เน็ตของจีน 

ปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมฯ ถัดมาก็คือ ภูมิปัญญาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนานหลายพันปี รวมทั้งจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนจีน สิ่งนี้ทำให้จีนมี “คอนเท้นต์” มากมายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็สร้างชื่อเสียงผ่านหนังสารคดีสไตล์กำลังภายใน “Into the Shaolin” ที่ได้รับการคัดเลือกให้ฉายในหลายงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อาทิ The Competition of Doc Edge and Feature Competition ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งนครซานฟรานซิสโก

เราอาจพอทราบกันมาแล้วบ้างว่า วัดเส้าหลินในมณฑลเหอหนาน ถือเป็นแหล่งก่อกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซน และ “กังฟู” ที่พระสงฆ์ในวัดใช้การฝึกศิลปะการป้องกันตัวเพื่อความสงบในจิตใจและการตรัสรู้ 

ท่านผู้อ่านที่เคยไปเยี่ยมชมวัดเส้าหลิน ก็อาจสังเกตเห็นความเอาจริงเอาจังในการฝึกกำลังภายใน และร่องรอยของการฝึกฝนกำลังภายในตามต้นไม้ กำแพง และอื่นๆ มาแล้วบ้าง

                             เบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์จีน (2)

พล็อตเรื่องของหนังสารคดีเรื่องนี้ก็น่าสนใจ โดยนำเสนอการดำเนินชีวิตและพัฒนาจิตใจของพระสงฆ์ในวัดเส้าหลิน แต่ก็แต่งเติมสีสันด้วยชีวิตนักมานุษยวิทยาสาวชาวเซอร์เบีย และการเผยแพร่หลักปรัชญาและแนวความคิดเกี่ยวกับ “กังฟู” ที่เชื่อมโยงทั้งในด้านศิลปะการป้องกันตัว และความอดทนรอคอย

เทคโนโลยีด้านอวกาศและคุณภาพของเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการผลิตของจีนที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพของชิ้นงานและความแข็งแกร่งของภาคการผลิต อันส่งผลให้อุตสาหกรรมฯ ของจีนเติบใหญ่รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกเช่นเดียวกัน

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสำเร็จในการสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ และการร่อนลงสู่พื้นผิวของดาวอังคาร รวมทั้งการก่อสร้างและการปฏิบัติงานของนักบินอวกาศในสถานีอวกาศนอกโลกของจีนก็เป็นตัวอย่างที่จับต้องได้

ในช่วงหลัง เรายังได้รับทราบข่าวการยิงจรวดขึ้นสู่ท้องฟ้าของจีนเฉลี่ยแทบทุกเดือน แซงหน้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่นอยู่มาก 
สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวโลกได้เห็นภาพถ่ายของโลกและดวงดาวที่แปลกตาอยู่เนืองๆ นักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์และผู้กำกับภาพยนตร์และละครไซไฟยังนำเอาภาพถ่ายเหล่านี้ไปจินตนาการต่อยอดให้ดูสมจริงและน่าสนใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์เชิงบวกก็พัฒนาไปอย่างประจวบเหมาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของด้านเทคโนโลยีการผลิต อาทิ AI และเทคนิคพิเศษ

ขณะเดียวกัน กระแสความนิยมในเมตาเวิร์ส ซึ่งช่วยปลุกเร้าความใส่ใจของ “มังกรรุ่นใหม่” ต่ออุตสาหกรรมฯ เป็นอย่างมาก 

เท่านั้นไม่พอ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังได้เอาเมตาเวิร์ส ไปต่อยอดเพื่อรังสรรค์ชิ้นงานในโลกเสมือนจริงของหลากหลายอุตสาหกรรม

เราไปคุยถึงปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของอุตสาหกรรมฯ อื่น และเกร็ดของนิยายวิทยาศาสตร์จีนกันต่อในตอนหน้าครับ ...