ผมชวนคุยเรื่องปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมไซไฟของจีนต่อเนื่องมาสองตอนต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ผมเลยขอนำประเด็นที่คั่งค้างอยู่มาคุยกันต่อครับ ...
นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ บทบาทภาครัฐ เทคโนโลยี และอื่นๆ ความสำเร็จในการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” ของวงการในจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมฯ โดยรวมในยุคหลัง ทั้งในแง่การผลิตชิ้นงานคุณภาพสูง และการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนในวงการ
โดยเนื้อแท้แล้ว กระแสความนิยมที่เกิดขึ้นผ่านนิยาย ละคร และภาพยนตร์ไซไฟเกิดขึ้นโดยอาศัย “การเล่าเรื่อง” ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ว่าง่ายๆ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเปรียบเสมือน “ร่างกาย” ไม่อาจรังสรรค์ชิ้นงานที่ดีได้หากปราศจากการป้อนข้อมูลของมนุษย์ที่เปรียบเสมือน “จิตใจ”
และในบรรดานักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน คงไม่น่ามีใครดังเกินไปกว่า หลิว ซือซิน (Liu Cixin) และ หาว จิ่งฝาง (Hao Jingfang) ที่แต่งนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ต่อมา กัว ฟาน (Guo Fan) นำไปทำเป็นหนังเรื่อง “The Wandering Earth” ภาคแรกเมื่อปี 2019
ผลจากความสำเร็จของหนังในภาคแรก ก็ทำให้ผู้กำกับหนุ่มตัดสินใจลงทุนทำภาค 2 อย่างไม่ลังเล ที่ถูกนำออกฉายเมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา และทำสถิติยอดจำหน่ายบัตรผ่านประตูถึง 3,670 ล้านหยวน สูงสุดอันดับ 5 ของจีน
การหาทางนำโลกและมวลมนุษยชาติ ให้หลุดพ้นภัยจากการมอดไหม้ลงอย่างรวดเร็วของดวงอาทิตย์เป็นพล็อตเรื่องหลัก
แต่การดำเนินเรื่องแฝงไว้ซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมทั้งยังมีการนำเอานวัตกรรมที่จีนคิดค้นขึ้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ ยิ่งผนวกกับเทคโนโลยีการผลิตที่เปี่ยมคุณภาพด้วย ก็ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้น่าติดตาม และปลุกกระแสภาพยนตร์ไซไฟในจีนมากขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน การดำเนินเรื่องก็ยังสอดแทรกแนวคิดของการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวโลก ในการต่อสู้มหันตภัยในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนทัศนะและมุมมองของจีนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของนานาประเทศในเวทีโลกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ซึ่งสร้างความตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจตลอดเรื่อง
หนังเรื่องนี้ถูกนำไปฉายในหลายสิบประเทศและภูมิภาคทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ผมเองก็รอให้หนังเรื่องนี้ลงโรงบ้านเราอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านที่อดใจรอไม่ไหว ก็อาจหาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จาก Netflix
ปัจจัยสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึงได้แก่ การพัฒนาของกระบวนการและมาตรฐานการผลิต การให้ความสำคัญกับคุณภาพระดับสูงของชิ้นงาน โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าของคอนเท้นต์ มูลค่าตลาด และพลังของวัฒนธรรม
ยกตัวอย่างเช่น การปรับปรุงกระบวนการแปลภาษาและการจัดการทั้งระบบ โดยการทำพันธมิตรในด้านการพิมพ์และการจัดจำหน่ายกับสำนักพิมพ์ชั้นนำของโลก รวมทั้งการทำตลาดระหว่างประเทศในตลาดเป้าหมาย
ตัวอย่างที่ดีได้แก่ นวนิยายเรื่อง “Three-Body Problem” ซึ่งเป็นเสมือนภาคแรกของนวนิยาย 3 ภาคของ “Remembrance of Earth’s Past” ที่แต่งขึ้นโดยหลิว ซือซินอีกเช่นกัน นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยถูกตีพิมพ์ในกว่า 30 ภาษา และมียอดจำหน่ายรวมกว่า 3.5 ล้านฉบับ
นิยายวิทยาศาสตร์นี้ถูกนำผลิตเป็นละครซีรีย์ 30 ตอนในชื่อ “Three Body” และเริ่มฉายเมื่อต้นปี 2023 ละครเรื่องนี้กล่าวถึงชะตากรรมของชาวโลก ที่เผชิญกับความศิวิไลซ์ของมนุษย์ต่างดาวจากระบบดวงดาวใกล้เคียง ที่มีพระอาทิตย์ 3 ดวงที่หมุนรอบกันอย่างไร้เสถียรภาพ
การดำเนินเรื่องเต็มไปด้วยจินตนาการและวัฒนธรรม ที่มีลักษณะเฉพาะของจีน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากทางอินเตอร์เน็ต และเพิ่มพูนประโยชน์อย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ
ความดังของละครเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้คนจีนติดกันงอมแงมเท่านั้น แต่ยังทำให้ Netflix ตัดสินใจทุ่มเงินถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ โดยคาดว่าจะนำออกฉายในต้นปี 2024 แค่ตัวอย่างที่ออกฉายเมื่อกลางปี 2023 ก็ทำเอาแฟนๆ ละครไซไฟตื่นเต้นกันเป็นแถวแล้ว
จีนยังนำเอา “นิยายวิทยาศาสตร์” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน และทำกิจกรรมพิเศษเพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนา “นักเขียนรุ่นเยาว์” แดนมังกร และต่อยอดเป็นหนังสือภาพ ของเด็กเล่น และอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
หลายองค์กรของจีน อาทิ ปักกิ่งหยวนหยูนิยายวิทยาศาสตร์ (Beijing Yuanyu Science Fiction) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอนาคต (Future Technology Research Institute) และบริษัท อันฮุยทอยคลาวด์เทค จำกัด (Anhui Toycloud Tech Co., Ltd.) ยังได้ลงนามการพัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธ์ระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง “ไซไฟไชน่า” (Sci-Fi China) ที่อันฮุย เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานแก่คนในอุตสาหกรรมฯ
จากรายงานอุตสาหกรรมไซไฟจีนในปี 2022-2023 ระบุว่า ในปี 2021 อุตสาหกรรมฯ พลิกฟื้นกลับมาทำรายได้เกือบ 83,000 ล้านหยวน ขยายตัวถึง 50.5% ของปีก่อน
ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยนิยายวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และศูนย์วิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์และจินตนาการมนุษย์ (Research Center for Science and Human Imagination) ของ Southern University of Science and Technology ณ นครเซินเจิ้น ตลาดเกมส์ไซไฟมีมูลค่าสูงสุดถึง 67,000 ล้านหยวน ขยายตัวจากปีก่อนเกือบ 40% และยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 6,000 ล้านหยวน เติบโตสูงเกือบ 3 เท่าตัวของปีก่อน
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์และทีวีไซไฟก็ผุดขึ้นหลายเรื่อง ทำให้รายได้ของตลาดส่วนนี้เติบโตสูงกว่า 170% ของปีก่อน จนมีมูลค่าตลาดถึง 7,190 ล้านหยวน ทั้งนี้ สื่อดิจิตัล หนังสือเสียง และการท่องเที่ยวเชิงไซไฟ ก็เติบโตแรงมากเช่นกัน
ในปี 2022 มูลค่าอุตสาหกรรมฯ โดยรวมยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยเพิ่มขึ้นเป็น 87,750 ล้านหยวน และมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปในเชิงบวก
รายได้ดังกล่าวยังมาจากหลายส่วน อาทิ สิ่งพิมพ์ ฟิลม์ เกมส์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีโมเมนตัมการพัฒนาที่แข็งแกร่ง โดยสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิตัลได้ก้าวแซงหน้าในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ในรูปแบบเดิม ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทของโลกดิจิตัลในจีนที่เพิ่มมากขึ้น
มาถึงปัจจุบัน นิยายวิทยาศาสตร์ไม่เพียงเติบโตเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ยังพัฒนาและขยายวงไปยังอุตสาหกรรมอื่นในจีน
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไซไฟมีตลาดที่แข็งแกร่ง และการผนวกเข้ากับอุตสาหกรรมอื่นจะนำไปสู่การพัฒนา การบูรณาการกับอุตสาหกรรมอื่นเป็นแนวทางหลักที่จะทำให้อุตสาหกรรมไซไฟเติบโตและแข็งแกร่ง
ไซไฟยังมี “อนาคตที่สดใส และไร้ขีดจำกัด” ยิ่งเห็นมูลค่าตลาดไซไฟจีนที่เติบใหญ่ดังกล่าวแล้วก็อด “ฝันหวาน” ตามไปด้วยไม่ได้
บ้านเรามีพื้นฐานดีและเก่งในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรไทยจะสามารถ “บูรณาการ” จุดเด่นที่มีอยู่เพื่อเกาะเกี่ยวไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์จีนได้บ้าง ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน