สวัสดีปีงูใหญ่ … ผมยังตั้งใจจะนำเอาสาระดีๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมที่แปลกใหม่มาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน
โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้นำเสนอนวัตกรรมสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 จนหลายคนแปลกใจว่า จีนเอาเวลาและทรัพยากรที่ไหนไปสุ่มทำวิจัยและพัฒนาสินค้าล้ำสมัยเหล่านี้
วันนี้เราจะไปส่องดูอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ทุกคนต้องร้อง “ว้าว” ...
ก่อนหน้านี้ เราได้ยินเกี่ยวกับ “แท็กซี่ไร้คนขับ” ที่ท่านผู้อ่านอาจได้มีโอกาสไปทดลองนั่งมาแล้วบ้าง แต่นวัตกรรมที่ผมจะชวนคุยในวันนี้ได้แก่ “แท็กซี่ทางอากาศ”
เมื่อไม่นานมานี้ จีนสร้างตื่นตะลึงอีกครั้งด้วยการเปิดตัว “โดรนแท็กซี่” ในนครเซี่ยงไฮ้ โดรนลำสมัยนี้ไม่ใช่โดรนขนาดเล็กทั่วไปแบบที่เรารู้จัก
ในการทดสอบการบินเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ก็พบว่า โดรนรุ่นนี้เป็นเครื่องบินขึ้นและลงแนวตั้งไฟฟ้า (Electric-Vertical-Takeoff-and-Landing) ลําแรกของจีน ที่ออกแบบและผลิตขึ้นโดยบริษัท VERTAXI สตาร์ทอัพสัญชาติจีน
แม้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 นี้เอง แต่ VERTAXI ก็มีโครงสร้างองค์กรที่สลับซับซ้อนและกระจายตัวอยู่มาก โดยปัจจุบัน บริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนาและโรงงานประกอบแห่งแรกในนครเซี่ยงไฮ้
ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีบริการบ่มเพาะภายในสําหรับการประกอบและการผลิตในเมืองจงซาน (Zhongshan) มณฑลกวางตุ้ง แต่พอไปดูการจดทะเบียนนิติบุคคลก็พบว่า VERTAXI ตั้งอยู่ในเมืองจูไห่ (Zhuhai) ในมณฑลเดียวกัน ที่อยู่ตรงข้ามกับมาเก๊า
แน่นอนว่า สำหรับจีนแล้ว “การเมืองนำเศรษฐกิจ” นโยบายของรัฐบาลจีน จึงมีความสำคัญที่สูงมากต่อความอยู่รอด และการเติบโตของธุรกิจใหม่ ซึ่งในกรณีของเครื่องบิน eVTOL ก็พบว่า นโยบายและแนวทางการส่งเสริมมีความชัดเจนและจริงจังอย่างมาก
ตามแผนปฏิบัติการที่ประกาศโดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ระบุว่า เซี่ยงไฮ้จะแสวงหาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในเครื่องบิน eVTOL ที่มีคนขับ และสํารวจรูปแบบการจราจรทางอากาศใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเซี่ยงไฮ้ ในการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมสําหรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2023 รายงานร่วมที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง และสํานักงานการบินพลเรือนของจีน เสนอว่า ภายในปี 2025 เครื่องบิน eVTOL จะสามารถดําเนินการในโครงการนําร่องได้
ขณะเดียวกัน รายงานยังคาดว่า ภายในปี 2035 ยานพาหนะการบินอัจฉริยะไร้คนขับและไฟฟ้า จะสามารถบรรลุการใช้งานเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จีนจะเปิดให้บริการ “แท็กซี่ทางอากาศ” เชิงพาณิชย์ในไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว
โดรนของ VERTAXI นี้มีชื่อว่า “Matrix 1” (M1) ถูกเปิดตัวเครื่อง “ต้นแบบ” ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2022
M1 มีน้ำหนักราว 2,000 กิโลกรัม ปีกกว้าง 15 เมตร และติดตั้งยานพาหนะมีปีกสี่จุด แต่ละจุดจะมีใบพัด 4 ตัวสําหรับการบินในแนวตั้ง สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 500 กิโลกรัม หรือ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 5 คนอย่างสบายๆ ภายในห้องโดยสารขนาด 3.5 ลูกบาศก์เมตร
เครื่องรุ่นนี้ยังสามารถบินด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีระยะบินที่ 250 กิโลเมตร M1 จึงคาดว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องบินระยะสั้นในระยะแรก โดยจะตอบสนองความต้องการสําหรับการเดินทางทางอากาศระยะสั้นภายในและระหว่างเมือง
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน สามารถกระตุ้นการปฏิวัติการใช้พลังงานไฟฟ้าของการบินทั่วไป ซึ่ง VERTAXI หวังว่าจะสามารถได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบิน eVTOL ในเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุดเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของทุกคน
หลายฝ่ายคาดว่า ต้นแบบ M1 ของ VERTAXI จะเข้าสู่การทดสอบภาคพื้นดินที่ฐานอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aviation Vehicles) ในเขตจินซาน (Jinshan) ของเซี่ยงไฮ้อีกระยะหนึ่ง และจะตามด้วยการเลือกสถานที่ในพื้นที่ชนบทและห่างไกลที่เหมาะสม เช่น เกาะและภูเขา และเริ่มสะสมประสบการณ์และข้อมูลการปฏิบัติงาน
สตาร์ทอัพรายนี้กําลังดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาเครื่องบิน eVTOL บนหลักการที่ว่า “ชานเมืองก่อนเมือง วัตถุก่อนผู้คน การแยกตัวก่อนการบูรณาการ” อย่างเคร่งครัด
สิ่งนี้สะท้อนว่า การดำเนินการจะเริ่มต้นด้วย “สินค้า” ที่ไม่มีลูกเรือ และค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้การดําเนินการของลูกเรือ ในที่สุดก็ใช้เครื่องบินกับบริการการขนส่งทางอากาศในเมืองของผู้โดยสาร
อันที่จริง ในช่วงปี 2023 ตลาด eVTOL ของจีนนับว่ามีความเคลื่อนไหวคึกคักและการแข่งขันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ บริษัทจีนหลายรายต่าง “กระโจน” เข้าร่วมแบ่งเค้กก้อนใหม่นี้เช่นกัน
นับแต่ต้นปี 2023 แอร์โรฟูเกีย (Aerofugia) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจีลี่ (Geely) ผู้ผลิตรถยนต์จีน ได้เปิดตัวเครื่องบินต้นแบบแบบไม่มีลูกเรือรุ่น AE200 ซึ่งเป็น eVTOL แบบ 5 ที่นั่ง
ขณะที่ออโตไฟล้ต์ (AutoFlight) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพแห่งเซี่ยงไฮ้ และมีการดําเนินงานในจีนและยุโรป โดยจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการบิน “Prosperity 1” ซึ่งเป็นเครื่องแบบ eVTOL ขนาด 3 ผู้โดยสารจำนวน 4 รุ่น
กลุ่มโวล์กสวาเก้นจีน (Volkswagen Group China) ก็ไม่ยอมตกขบวน และเปิดตัวเครื่อง eVTOL ต้นแบบชนิดไม่มีลูกเรือ ขนาดรองรับผู้โดยสารได้ 4 คน
Shanghai TCab Technology Co Ltd หรือในชื่อย่อว่า “ทีแค็บ” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 และเสร็จสิ้นการระดมรอบ A มูลค่า 100 ล้านหยวนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ยังได้เปิดตัว eVTOL ด้วยโมเดลขนาดเล็กของเครื่องบินรุ่น E20 ที่พัฒนาขึ้นเองภายในงาน China (Shanghai) International Technology Fair ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ใครที่ชื่นชอบสินค้านวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ก็ไม่ควรพลาดงาน CSITF นี้ครับ เพราะงานนี้ถือเป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ระดับประเทศแรกของจีน และได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ 9 แล้วในปี 2023 โดยมีบริษัทเกือบ 1,000 แห่ง ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานบนพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร
เครื่องรุ่น E20 นี้ มีสมรรถนะบรรทุกสูงสุด 450 กิโลกรัม และออกแบบให้รองรับนักบิน 1 คน และผู้โดยสาร 4 คน ด้วยความเร็ว 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางราว 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ
นอกจากนี้ เสี่ยวเผิง (XPeng) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ที่ได้รับใบอนุญาตเที่ยวบินพิเศษตั้งแต่เดือนมกราคม ก็ยังได้เปิดตัว “รถบิน” ที่มีชื่อว่า “กีวีโกโก” (Kiwigogo) เป็นครั้งแรกในงาน Beijing International Automobile Exhibition เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2020 ณ กรุงปักกิ่ง
คราวหน้าเราจะไปคุยกันต่อเกี่ยวกับ VERTAXI ที่กำลังจะเป็นผู้ให้บริการ “แท็กซี่อวกาศ” รายแรกของจีนในอนาคตอันใกล้กันครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน