“อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (4)

17 ธ.ค. 2566 | 00:00 น.

“อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3949

นอกจากความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แล้ว หอนกกระเรียนเหลือง ก็ยังมีบทกวี และเรื่องเล่าขานที่น่าอัศจรรย์มาช่วยเสริมสร้างเสน่ห์ให้ชวนหลงใหลอีกมาก... 

อย่างที่ผมเกริ่นไปเมื่อตอนก่อนว่า หอฯ ถือเป็นเสมือน “แลนด์มาร์ค” ของอู่ฮั่นที่ในครั้งโบราณกาล สามารถเห็นได้ไกลจากนอกเมือง 

อันที่จริง ในช่วงชีวิตโดยรวมกว่า 1,800 ปี หอฯ ได้ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยรูปทรงที่แตกต่างกัน “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาหลายครั้ง โดยถูกบูรณะปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ครั้งหนึ่งก็ยังถูกไฟไหม้จนเสียหายเกือบทั้งหมด และครั้งหนึ่งก็ถูกโยกย้ายสถานที่เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง  

ตอนผมไปเห็นในครั้งแรกก็รู้สึกแปลกใจ และ แอบชื่นชมที่รีฐบาลจีนดูแลและบำรุงรักษาหอฯ อันเก่าแก่ไว้เป็นอย่างดียิ่ง แต่ภายหลังจึงได้พบว่า หอฯ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1981-1985 จึงดูใหม่และแข็งแรงกว่าที่คาดคิด โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสภาปัตยกรรมจีน วัสดุก่อสร้างยุคใหม่ และ เทคนิดการก่อสร้างสมัยใหม่ อาทิ เหล็ก และ ลิฟท์  

แถมพื้นที่ด้านนอกโดยรอบก็ยังถูกกันเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีอาคารสูงบดบังทัศนียภาพ ซึ่งทำให้ “อวงจุ้ย” ของหอฯ ดูดีขึ้นไปอีก เพราะพอขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของหอฯ ก็ทำให้มองดูวิวทิวทัศน์ของเมืองอู่ฮั่น พื้นที่สีเขียว และแม่น้ำแยงซีเกียงได้ไกลสุดตา จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจีนจัดระดับให้หอฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A  

นอกจากนี้ คนจีนยังถือว่า หอฯ นี้เป็น 1 ใน 3 หอที่ยิ่งใหญ่ของจีน เพราะในสมัยก่อน ใครก็ตามที่ผ่านไปมาอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเสมือน “ชุมทาง” ของชาวจีน ก็มัก “ปักหมุด” ไปที่หอฯ  

กอปรกับการมีคราบไคลทางประวัติศาสตร์ ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งรวมพลของบรรดาขุนนางสายบุ๋น ปราชญ์ กวี และ ปัญญาชนจากทั่วทุกสารทิศของจีน

ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีอัตลักษณ์เป็น “เก๋งจีน” ริมแม่น้ำแยงซีเกียงที่ยิ่งใหญ่ ก็ทำให้ผู้คนเหล่านี้ผ่อนคลาย มีอารมณ์ร่วม และ อยากวาดภาพ และแต่งบทกวีไว้เป็นที่ระลึกเป็นจำนวนมาก  

ในจำนวนนี้มีผลงานกวีของ ชุย เฮ่า (Shui Hao) ปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ที่ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับความงามสง่าของหอแห่งนี้ รวมทั้งคำเล่าขานของหอกระเรียนเหลืองนี้เอาไว้อย่างละเอียด จนกลายเป็นต้นแบบให้กวีรุ่นหลังได้ศึกษาในเวลาต่อมา 

ผมขอคัดลอกส่วนหนึ่งในบทกวีของชุย เฮ่า ที่โด่งดัง และกลายเป็นเรื่องเล่าที่ส่งผ่านมาถึงคนรุ่นหลัง มาแชร์กัน 

“เซียนขี่นกกระเรียนเหลืองบินลับไป

ที่นี่เหลือแต่หอกระเรียนเหลือง

กระเรียนเหลืองบินลับไม่กลับมา

มีแต่เมฆขาวลอย ลอย ชั่วพันปี” 

จากบทกวีดังกล่าว ผมขอถอดความเรื่องราวเกี่ยวกับหอฯ ที่คนท้องถิ่นที่นั่นเล่าให้ผมฟังเมื่อคราวไปเยือนเมื่อคราวก่อน   

เรื่องมีอยู่ว่า สถานที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลือง เป็นร้านเหล้าเล็กๆ ที่เปิดเป็นที่พักริมทาง ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านได้ให้อาหาร และ ที่พัก แก่นักพรตที่แต่งกายซ่อมซ่อโดยไม่คิดเงิน  

แต่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง จนในท้ายที่สุด นักพรตคนดังกล่าวก็เอ่ยถามเจ้าของร้านว่า ทำไมจึงยินดีจัดอาหาร และ ที่พักแก่ตนเองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งที่ ร้านก็ไม่ค่อยมีลูกค้า และทำท่าจะต้องปิดกิจการเสียด้วยซ้ำ 

เมื่อเห็นถึงน้ำจิตน้ำใจอันดีงามของเจ้าของร้าน นักพรตนั้นจึงใช้เปลือกส้ม วาดเป็นรูปกระเรียนสีเหลืองที่ผนังร้านเพื่อเป็นการตอบแทน  

                         “อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (4)

แต่เรื่องราวความสนุกก็เกิดขึ้น เพราะเมื่อปรบมือขึ้นครั้งหนึ่ง ภาพกระเรียนเหลืองบนฝาผนัง ก็จะออกมาร่ายรำอย่างงดงาม และนับแต่นั้นมา ก็มีลูกค้าเข้ามารอดูการแสดงของกระเรียนเหลืองกันอย่างคับคั่ง กิจการของร้านที่ยอบแยบก็กลับเฟื่องฟู ทำเอาจ้าของร้านมีฐานะร่ำรวยขึ้น 

10 ปีต่อมานักพรตนั้นกลับมาที่ร้านนี้อีกครั้ง แต่ที่แปลกกว่าทุกครั้งก็คือ เมื่อกระเรียนเหลืองออกมาจากผนัง นักพรตที่เล่าขานในเวลาต่อมาว่า เป็นเซียนที่มีชื่อว่า “จื่อ อาน”  ก็ขึ้นขี่กระเรียนบินจากไป เจ้าของร้านจึงสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของนักพรตดังกล่าว 

อีกหนึ่งในบทกวีที่กล่าวขานกันมากเป็นของ หลี่ ไป๋ (Li Bai) กวีเอกแห่งราชวงศ์ถังของจีน ที่มีบุคลิกและความเก่งกาจราวกับ “สุนทรภู่จีน”  กล่าวคือ หลี่ ไป๋ เป็นกวีผู้นิยมการดื่มสุรา เมื่อเมาได้ที่ ก็มักร่ายบทกวีได้งดงามยิ่ง  

ตามประวัติเล่าขานกันว่า หลี่ ไป๋ เป็นคนในตระกูลพ่อค้าวาณิชย์ ในย่านเมืองชายแดน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศคีร์กีซสถาน ด้านซีกตะวันตกของจีน และ ต่อมาครอบครัวก็โยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากที่มณฑลเสฉวน 

บันทึกท่อนหนึ่งเกี่ยวกับประวัติของหลี่ ไป๋ ระบุว่า แม้บิดาจะมีอาชีพค้าขาย แต่ความสามารถด้านกวีของเขาอาจถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือด เพราะคุณพ่อและคุณแม่ก็มีความสามารถด้านการประพันธ์บทกวีเช่นกัน เรียกว่าเป็น “นักประพันธ์กวี” แห่งตระกูลหลี่ก็ว่าได้

แม้กระทั่งชื่อ “หลี่ ไป๋” เองก็มีที่มาที่ไปจากกวีที่ครอบครัวแต่งขึ้น ตอนนั้น หลี่ ไป๋อายุราว 7 ขวบ แต่ยังไม่มีชื่อจริง ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิ บิดาของเขามองไปที่ลานบ้านเห็นต้นไม้เขียวชะอุ่ม และเริ่มออกดอกบานสะพรั่ง จึงครึ้มใจร่ายบทกวีขึ้นว่า “อุ่นไอใบไม้ผลิร้อยบุบผาเบ่งบาน ผลิต้อนรับฤดูกาลก่อนแล้ว”  

ขณะที่มารดาของหลี่ ไป๋ ก็มาต่ออีกบทหนึ่งว่า “ใบไม้แดงดั่งเพลิงร่วงหล่นราย” ครั้นหลี่ ไป๋ที่มีอายุเพียง 7 ขวบได้ยินดังนั้น ก็ต่อบทสุดท้ายในทันทีว่า “ดอกหลี่ฮวาพร่างพราวขาวทั้งต้น” 

จึงเป็นที่มาให้บิดาของเขาเอาคำว่า “ไป๋” ที่แปลว่า “ขาว” ซึ่งเป็นคำสุดท้ายของบทกวีดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อจริง เขาจึงถูกเรียกขานว่า “หลี่ ไป๋” นับแต่นั้นมา 
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หลี่ ไป๋เคยขึ้นไปยืนบนหอฯ ชมแม่น้ำแยงซีเกียง และตัวเมืองรายรอบ ซึ่งตามมาด้วยบทกวีที่เกี่ยวข้องมากมาย  

อย่างไรก็ดี ชีวิตของหลี่ ไป๋ ที่เต็มไปด้วยความโลดโผน สมบุกสมบัน แร้นแค้น และระหกระเหิน ทำให้สุขภาพของเขาไม่สู้ดีนัก ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาโยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่กับญาติที่มณฑลอานฮุย และเสียชีวิตในวัยเพียง 61 ปี เหลือไว้แต่บทกวีที่ผู้คนกล่าวขานจนปัจจุบัน

คราวหน้าผมจะพาไปนั่งรถไฟรางเดี่ยวแบบแขวนสายแรกของจีนกัน อดใจรอหน่อยนะครับ ...