เราไปคุยกันต่อเกี่ยวกับ VERTAXI ที่กำลังจะเป็นผู้ให้บริการ “แท็กซี่ทางอากาศ” รายแรกของจีนในอนาคตอันใกล้กันครับ ...
VERTAXI มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ต้องการให้ “ทุกคนสามารถเข้าถึงการเดินทางกางอากาศ” เครื่องบิน eVTOL จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะพิเศษและราคาถูก รวมทั้งตอบโจทย์ที่เคยมีมาของเฮลิคอปเตอร์รูปแบบเดิม เพื่อหวังมอบประสบการณ์การเดินทางที่รวดเร็ว เงียบ และปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร
เครื่องบิน eVTOL จึงมีข้อได้เปรียบอยู่หลายประการ อาทิ ความสามารถในการขึ้นและลงจอดจากจุดจอดของอาคารสูง โรงจอดรถ หรือลานจอดเฮลิคอปเตอร์ในชุมชนเมืองที่แออัดได้ คล้ายกับเฮลิคอปเตอร์
eVTOL ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จึงมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีมลพิษทางเสียง ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ในย่านชุมชนเมือง
การเติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดของการผลิตและตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในจีนและต่างประเทศ ก็มีส่วนสำคัญที่สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม eVTOL และอุปสงค์จาก eVTOL ที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังจะย้อนกลับไปช่วยให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตอย่างเต็มที่ในอนาคตเช่นกัน
ขณะเดียวกัน eVTOL ก็ประหยัดตังค์อยู่มาก กล่าวคือ เฮลิคอปเตอร์แบบเดิมสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 คน และมีราคาอย่างน้อย 30 ล้านหยวนต่อลำ แต่เครื่อง E20 แต่ละรุ่นจะมีราคาไม่เกิน 7 ล้านหยวน ว่าง่ายๆ เงินซื้อเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำสามารถนำไปซื้อหา eVTOL ของจีนได้ถึง 4 ลำ
นอกจากนี้ เจ้าของและผู้ประกอบการก็ไม่จําเป็นต้องแบกรับค่าบํารุงรักษา ค่าธรรมเนียมการจัดเก็บ หรือค่าเชื้อเพลิงเครื่องบินที่สูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ทั่วไป
ด้วยข้อได้เปรียบดังกล่าว จึงทำให้ VERTAXI ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดก็ได้ปิดจ็อบการระดมทุนมูลค่า 150 ล้านหยวนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2023
ผู้ผลิตในวงการหลายรายก็ได้รับออเดอร์เข้ามารออยู่เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น TCab ได้รับคําสั่งซื้อมากกว่า 200 ลำแล้ว รวมทั้งยังมีการลงนามการซื้อขายล็อตใหญ่จาก Asian Express Aviation Group เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ TCab ยังได้ยื่นขอใบอนุญาตบริการท่องเที่ยวแบบระดับความสูงต่ำจากสํานักงานบริหารการบินพลเรือนของจีน
คนในวงการยังประเมินว่า หากตลาดแท๊กซี่ทางอากาศ “จุดติด” ในจีน การผลิต eVTOL จะได้รับ “ความประหยัดอันเนื่องจากขนาด” และทำให้ราคาต่อหน่วยลดต่ำลงไปอีก ซึ่งยิ่งจะทำให้ “ความแพร่หลาย” เกิดขึ้นตามมาในระยะถัดไป
กลับมาที่โดรนรุ่น M1 ซึ่งกำลังเป็น “พระเอก” ตัวหลักของจีน หลายฝ่ายประเมินว่า ในระยะแรก บริษัทฯ จะสามารถใช้ประโยชน์จากห้องโดยสารที่มีขนาดประมาณ 3.5 ลูกบาศก์เมตรในการบรรทุกพัสดุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าในชนบทก่อน
และโดยที่ลักษณะของเครื่องบิน eVTOL ที่ถูกออกแบบเพื่อหวังมอบประสบการณ์การเดินทางที่รวดเร็วแก่ผู้โดยสาร จึงคาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากที่อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์เหลือเพียงไม่ถึง 30 นาที
นั่นเท่ากับว่า การเดินทางระหว่างเมือง และการเคลื่อนย้ายทางอากาศในชุมชนเมือง (Urban Air Mobility) จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเติบใหญ่ในจีนในยุคหน้า
ในคราวไปเยี่ยมชมดูงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติแห่งชาติจีน (China International Import Expo) หรือที่นิยมเรียกในตัวย่อว่า “CIIE” ครั้งที่ 6 ในช่วง 5-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสแวะไปส่องโดรนรุ่นนี้ภายในงาน
ตอนแรกที่เห็นก็รู้สึกว่า M1 ดูใหญ่กว่าที่ผมคิดจน ผมอดคิดไม่ได้ว่า บริษัทเคลื่อนย้าย M1 เข้ามาในศูนย์แสดงสินค้าได้อย่างไรกัน หลังเดินวนชม M1 อยู่ระยะเวลาหนึ่ง ผมก็รู้สึกได้ถึง “ความเนี๊ยบ” ที่ซ่อนอยู่ จนฝันอยากจะทดลองนั่งเลย
มาถึงปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่า จีนจัดอยู่ในระดับแนวหน้าในการพัฒนาเครื่องบิน eVTOL และด้วยจุดเด่นของความเป็น “ระบบไฟฟ้า” ที่เงียบ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงคาดว่ารัฐบาลจีนจะผ่อนคลายกฎระเบียบบริการแท็กซี่ทางอากาศโดยลำดับ
ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ การขยายรูปแบบและพื้นที่และรูปแบบการให้บริการ หลายฝ่ายคาดว่าตลาดนี้จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2025-2030
ตลาดแท็กซี่ทางอากาศของจีนจึงกำลังกายเป็น “เค้กก้อนใหม่” ที่ผู้ประกอบการยุคใหม่กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด เมื่อพร้อม “ตลาดจีน” ยังจะกลายเป็น “กระดานดีด” สำหรับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดโลก เฉกเช่นเดียวกับที่เราเห็นในหลายอุตสาหกรรมยุคหลัง อาทิ สมาร์ตโฟน และ ยานยนต์ไฟฟ้า
ไม่เท่านั้น VERTAXI จึงอาจจะ “ถูกปั้น” ให้เป็นเสมือน “ตัวแทน” ของจีน” ในการเข้าสู่ตลาด “แท็กซี่ทางอากาศ” โลกในอนาคต แต่บริษัทจีนก็ใช่ว่าจะครองตลาด eVTOL โลกได้อย่าง “สะดวกโยธิน” เพราะยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้นําในอุตสาหกรรม
ยกตัวอย่างเช่น อาเชอร์ (Archer) ผู้ผลิต eVTOL ที่มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ “ปลดล็อกน่านฟ้า มอบอิสรภาพในจินตนาการใหม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเวลา”
ภายหลังการรวบรวมทีมวิศวกรชั้นนำ และทดสอบเครื่องบินต้นแบบขนาดเล็กในช่วงปี 2018-2020 บริษัทสัญชาติอเมริกันรายนี้ ก็ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเครือข่ายมากมาย ไล่ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และลูกค้า
อาทิ กองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อการทดสอบการบิน สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ (United Airlines) ที่มาพร้อมกับออเดอร์ eVTOL จำนวน 100 ลำ เพื่อเตรียมรองรับบริการบินระยะสั้นภายใน และระหว่างเมืองในสหรัฐ และสำนักงานการลงทุนแห่งนครอาบูดาบี (The Abu Dhabi Investment Office) เพื่อบริการแท๊กซี่ทางอากาศด้วยเครื่องบิน eVTOL ในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ที่ตั้งเป้าจะเริ่มภายในปี 2026
ปัจจุบัน บริษัทลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และได้รับความสนใจจากนักลงทุน และเครือข่ายอย่างมากมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง
โจบี้เอเวียชั่น (Joby Aviation) หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตเครื่องบิน eVTOL สัญชาติอเมริกันแห่งเมืองซานตาครูซ (Santa Cruz) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) และลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
บริษัทพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2023
โดยเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ได้ประกาศลงทุนสร้างโรงงานขนาดกำลังผลิต eVTOL ระดับ 500 ลำต่อปีที่เมืองเดย์ตัน (Dayton) มลรัฐโอไฮโอ (Ohio) เมืองต้นกำเนิดด้านการบินที่พี่น้องะตรกูลไรท์ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเครื่องบินเมื่อกว่า 100 ปีก่อน
ต่อมา โจบี้ก็ยังสร้างชื่อด้วยการเป็นบริษัทแรกที่ส่งมอบเครื่องบิน eVTOL ลำแรกให้แก่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะถูกใช้ในภารกิจด้านลอจิสติกส์ภายในฐานทัพ
นอกจากนี้ ไม่รู้ว่าพอเห็น VERTAXI ทดสอบการบินในเซี่ยงไฮ้หรือไม่ โจบี้ก็ไม่ยอมน้อยหน้า จัดแสดงการทดสอบการบินในใจกลางนครนิวยอร์กในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาเช่นกัน
อีกบริษัทหนึ่งก็ได้แก่ ลิเลี่ยม (Lilium) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 มีออฟฟิศ 4 แห่งทั่วโลก ลงนามความ ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกมากมาย อาทิ กลุ่มธุรกิจลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) และจดทะเบียนในตลาดแนสแด็ก(Nasdaq) ในปัจจุบัน
ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากเห็น “การสร้างรูปแบบการเดินทางที่ดีกว่าอย่างสุดขั้ว” บริษัทมี “ความฝัน” ที่ทะเยอทะยานมาก เพราะมุ่งหวังที่จะก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำระดับโลกด้านการเดินทางทางอากาศ” เลยทีเดียว
อดใจอีกนิด ผมเชื่อมั่นว่า เครื่องบิน eVTOL จะเป็นพาหนะสำหรับบริการ “แท็กซี่ทางอากาศ” สำหรับการเดินทางระยะสั้นในชุมชนเมืองของจีนและหลายประเทศทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ …