สนามบินผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสาร T3 ล้ำสมัย (จบ)

19 ส.ค. 2567 | 05:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 05:13 น.

สนามบินผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสาร T3 ล้ำสมัย (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4018

แม้ว่าสนามบินนานาชาติหงเฉียวและผู่ตง ยังมีความสามารถในการให้บริการเหลืออยู่ แต่ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก “อุปทานรออุปสงค์” รัฐบาลจีนก็นิยมตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า ...
การขยายตัวของอุปสงค์ทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการดำเนินนโยบาย “วีซ่าฟรี” ของรัฐบาลจีนกับหลายประเทศเกิดผลเป็นรูปธรรม 

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 สนามบินทั้งสองของเซี่ยงไฮ้ มีจำนวนผู้โดยสารและปริมาณสินค้าขยายตัวในอัตราที่สูงมากในอัตราสามหลักเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และแตะระดับมากกว่า 100 คน-ครั้ง และมากกว่า 4 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ ทำให้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ก็เดินหน้าการพัฒนา “เฟสใหม่” เต็มสูบในทันที

โดยกลางปี 2024 การท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ได้ เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้าง T3 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระยะที่ 4 ของการพัฒนาสนามบินผู่ตงที่เริ่ม “คิกออฟ” เมื่อต้นปี 2022

ตามแผนดังกล่าว ทางการเซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และประสบการณ์การเดินทางคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความมุ่งมั่นของเซี่ยงไฮ้ ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศชั้นนําของโลก ภายในปี 2025

ในชั้นนี้ การท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ ได้รายงานว่า ความเป็นไปได้ของ T3 ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปของเซี่ยงไฮ้แล้ว ขณะที่การก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มขึ้นภายในสิ้นปี 2024

T3 มีความโดดเด่นในการออกแบบนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ที่อยู่ในรูปของ “อาคารแฝดที่ทำงานแบบบูรณาการ” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ T3 จะครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1.2 ล้านตารางเมตรหรือเกือบ 2 เท่าของอาคารส่วนต่อขยาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอาคารส่วนต่อขยายของสนามบินผู่ตงที่ปกคลุมด้วยพื้นที่สีเขียว  

โดยตัวอาคารหลักถูกออกแบบให้ “สูงโปร่ง” พร้อม “ช่องรับแสง” โดยมี “แขน” ที่ยื่นออกไปในหลายทิศทาง เพื่อเป็นจุดจอดเครื่องบินรวมนับร้อยลำ และทางเชื่อมรูปตัว X ระหว่างอาคารแฝดเพื่อความสะดวกและความประหยัดเวลาของผู้ใช้บริการ 

ทั้งนี้ สถาปนิกโครงการตั้งเป้าว่า ด้วยการออกแบบดังกล่าว T3 จะสามารถให้ทุกเที่ยวบินเข้าถึงสะพานขึ้นเครื่อง และการจัดส่งสัมภาระอัตโนมัติ ขณะที่ผู้โดยสารก็จะใช้เวลาเปลี่ยนเครื่องได้ภายใน 60 นาที

ขณะเดียวกัน บริการขนส่งใต้ดินที่มีอยู่ก็จะถูกขยายไปเชื่อมต่อกันเป็นศูนย์กลางการขนส่งอัจฉริยะ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สถานีไฟฟ้าย่อย 220 กิโลโวลต์ (KV) จุดพักชั่วคราวอัจฉริยะ และสิ่งอํานวยความสะดวกสนับสนุนอื่นที่เดินหน้าไปก่อนหน้านี้

เมื่อเปิดให้บริการ ก็คาดว่า T3 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งนั่นเท่ากับว่า สนามบินผู่ตงจะสามารถรองรับผู้โดยสารโดยรวมได้ถึง 130 ล้านคนต่อปี และส่งผลให้สนามบินทั้งสองในเซี่ยงไฮ้ เชื่อมโยงกับสนามบินกว่า 150 เมืองทั่วจีน 

สนามบินยังเชื่อมกับจุดหมายปลายทางนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ไล่ตั้งแต่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวมไปถึงหัวเมืองสำคัญทั่วโลกรวมกว่า 90 แห่ง

ไม่ว่าจะเป็นลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก ดัลลัส และ ซีแอตเทิล ในสหรัฐฯ แฟรงก์เฟิร์ต ใน เยอรมนี ปารีส ใน ฝรั่งเศส ลอนดอนในสหราชอาณาจักร โรม และ มิลาน ในอิตาลี เอเธนส์ ในกรีซ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และ โนโวซีบีสค์ในรัสเซีย 

ซิดนีย์ และ เมลเบิร์น ในออสเตรเลีย โอ๊คแลนด์ ใน นิวซีแลนด์ ริยาด ใน ซาอุดิอารเบีย และ แอดดิสอาบาบา ใน เอธิโอเปีย รวมทั้งสุวรรณภูมิ และหลายหัวเมืองใหญ่อื่นของไทย 

มองออกไปข้างหน้า แนวโน้มความต้องการใช้บริการขนส่งทางอากาศในเซี่ยงไฮ้ ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ทั้งในแง่จำนวนผู้โดยสาร และปริมาณสินค้า

ผลจากการขยายการดำเนินนโยบาย “วีซ่าฟรี” ของจีน กับอีกหลายประเทศในระยะหลัง และในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเข้าออกเพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ กับนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และโปแลนด์

ทั้งนี้ กรอบความตกลงดังกล่าว เปิดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศดังกล่าวเข้าไปทำธุรกิจ ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ และ เพื่อน และต่อเครื่องสามารถพำนักในจีน เป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน โดยจะมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2025 ซึ่งแน่นอนว่า เซี่ยงไฮ้น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางหลักของจีน

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจดิจิตัลของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ที่กลับมาแข็งแกร่ง และ ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยลำดับ ก็คาดว่า จะทำให้อุปสงค์การขนส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวตามไปด้วย  

ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้น ของจำนวนสายการบินและสนามบินเครือข่าย ผมประเมินว่า การเชื่อมโยงระหว่างเซี่ยงไฮ้กับสนามบินในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นราว 8-10 จุดต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า

การพัฒนา “ระบบนิเวศ” ของสนามบินในเซี่ยงไฮ้ จึงยังคงได้รับการผลักดันไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกลางปี 2024 เซี่ยงไฮ้ได้ประกาศเตรียมเปิดบริการรถไฟใต้ดิน เชื่อมสนามบินหงเฉียว และ ผู่ตงที่มีความล้ำสมัย และให้บริการด้วยความเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

แน่นอนว่า รถไฟใต้ดินเจนใหม่นี้ จะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการต่อเครื่อง และประหยัดเวลา ในการเดินทางระหว่างสองสนามบินของเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการบินของเซี่ยงไฮ้ในภูมิภาค ขอให้ท่านผู้อ่านอดใจรออีกหน่อย

ในส่วนของการก่อสร้าง T3 “เฟสที่ 4” ของสนามบินผู่ตงนั้น ในชั้นนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2028 ซึ่งอาจนำไปสู่คำถามตามมาว่า “แล้วเซี่ยงไฮ้จะหยุดการพัฒนาสนามบินบ้างหรือไม่ในอนาคต?” 

หากพิจารณาจากความพยายามของเซี่ยงไฮ้ ในการเป็นต้นแบบ “เมืองน่าอยู่” ของโลก การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ของโลก อาทิ โอลิมปิกฤดูร้อน 2032 และ ฟุตบอลโลก รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาระหว่างประเทศแล้ว ท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนกับผมว่า เซี่ยงไฮ้คงไม่หยุดพัฒนาสนามบินที่มีอยู่เป็นแน่ 

ถูกต้องครับ เพราะล่าสุด ผู้บริหารระดับสูงของ Shanghai Airport (Group) Co Ltd ได้เปิดเผยแผนการพัฒนาสนามบินในระยะยาวว่า จะมุ่งเน้นในเรื่อง “ขนาด ซอฟท์พาวเวอร์ และขีดความสามารถในการแข่งขัน” 

พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะให้สนามบินทั้งสองของเซี่ยงไฮ้ มีความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารถึง 220 ล้านคน-ครั้ง และปริมาณสินค้า 7.4 ล้านตัน พร้อมกับความสะดวกสบายและความล้ำสมัยของสิ่งอำนวยความสะดวกภายในปี 2035

นี่อาจเป็นเสมือน “พันธะสัญญา” ที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มีให้กับองค์การระหว่างประเทศ และสาธารณชนโดยรวม เพื่อส่งสัญญาณแรงว่า สนามบินทั้งสอง พร้อมที่จะสนับสนุนการเสนอตัวของเซี่ยงไฮ้ในการเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับโลกใดๆ ในอนาคต ...