จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยสร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (3)

24 ต.ค. 2567 | 04:36 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 04:47 น.

จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยสร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4038 

การปรับปรุงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบเกี่ยวกับอาคารสีเขียว และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ช่วยให้นโยบายอาคารสีเขียวของจีนรุดหน้าไปรวดเร็วขนาดไหน ไปคุยกันต่อเลยครับ ...  

เฉพาะในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) อาคารสีเขียวที่ถูกก่อสร้างขึ้นใหม่ มีขนาดรวมมากกว่า 500 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับปี 2015 เรากำลังพูดถึงโครงการอาคารสีเขียวมากกว่า 2,500 โครงการในจีนในช่วงเวลาดังกล่าว 

ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ThyssenKrupp Elevator Zhongshan Office & Work ซึ่งออกแบบเพื่อทำหน้าที่เป็นอาคารทดสอบสินค้าที่มีความสูงถึง 248 เมตร ณ เมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง โดยมีหอทดสอบบันไดเลื่อนที่มีความสูงถึง 35 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในอุตสาหกรรมบันไดเลื่อนในภาคใต้ของจีน  

โครงการ JCI HQ Asia Pacific ซึ่งเป็นสำนักใหญ่ประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกของ Johnson Controls ที่ตั้งอยู่ในเขตฉางหนิง (Changning) ริมแม่น้ำซูโจว (Suzhou Creek) นครเซี่ยงไฮ้ บริษัทถือเป็นผู้นำโลกในด้านอาคารอัจฉริยะ ทั้งในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ 

โครงการ Bureau Veritas Chengdu เพื่อเป็นสำนักงานแห่งใหม่ ในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ด้านซีกตะวันตกของจีน ทั้งนี้ Bureau Veritas ถือเป็นบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองคุณภาพสินค้าและบริการที่มีอายุเกือบ 200 ปี 

โครงการศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศผิงอัน (PingAn International Financial Centre) ที่เป็นสำนักงานใหญ่ของ “ผิงอัน” ธุรกิจประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ใจกลางนครเซินเจิ้น (Shenzhen) ด้านซีกตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง 

โครงการ Shanghai Fenglin Medical Office ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานและแล็บกลางด้านการสุขภาพรักษาสุขภาพเฟิงหลินแห่งนครเซี่ยงไฮ้ ที่มีขนาด 1,650 ตารางเมตร 

โครงการ Xizi International Center ที่ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกของนครหางโจว (Hangzhou) มณฑลเจ้อเจียง ซุปเปอร์สโตร์ของไนกี้ในนครเซี่ยงไฮ้และกวางโจว อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ BMBS และ Unilever Shanghai รวมทั้งโรงแรมนิวเวิร์ลกุ้ยหยาง (Guiyang) มณฑลกุ้ยโจว และ New World International Trade Tower ณ นครอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย  

การดำเนินนโยบายอาคารและวัสดุสีเขียวดังกล่าว ขยายต่อมายังช่วงแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ในอัตราเร่ง ทั้งนี้ จนถึงปี 2023 ผมประเมินว่า มากกว่า 25,000 โครงการ ได้รับใบรับรองอาคารสีเขียวในจีน 

งานวิจัยหนึ่งยังระบุว่า กว่า 90% ของอาคารพาณิชย์ในจีน ต่างก็วางแผนที่จะมีอาคารพลังงานสุทธิ หรือ ใกล้ศูนย์อย่างน้อย 1 แห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้จีนมีสัดส่วนของอาคารสีเขียว ถึงราว 17.2% ของตลาดอาคารสีเขียวโดยรวมของโลก 

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาคารสีเขียว ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะสําหรับการก่อสร้างใหม่ หรือการอัพเกรดอาคารเดิม กอปรกับความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของรัฐบาลจีน ทำให้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า ตลาดวัสดุก่อสร้างสีเขียวในจีนมีศักยภาพทางธุรกิจสูงมาก  

โอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้พัฒนาและผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างสีเขียวของจีนเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสําหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโดยรวมของจีน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  

ขณะเดียวกัน ขอบข่ายของวัสดุก่อสร้างสีเขียว ก็ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ไล่ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี และการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความเบา แข็งแรง และประสิทธิภาพสูง อาทิ โครงสร้างและวัสดุก่อสร้างไม้ รวมถึงการรีไซเคิลไม้ที่ใช้แล้ว และวัสดุก่อสร้างอเนกประสงค์ 

ผมเชื่อมั่นว่า ในอนาคต วัสดุเหล่านี้จะขยายต่อไปยังวัดสุใหม่อย่าง “พลาสติกหิน” (Stone Plastic) ที่เริ่มประยุกต์ใช้เป็นหลากหลายสินค้าในจีนในปัจจุบัน การพัฒนาส่วนหลังนี้ ผมจะขอรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟังกันในโอกาสต่อไป 

โดยที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการวิจัย และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ครอบคลุมอย่างรอบด้าน ทำให้หลายคนนึกถึงวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การคิดค้น พัฒนา และผลิตอุปกรณ์และวัสดุ “ฉนวนประหยัดพลังงาน” ที่มีประสิทธิภาพสูง  

รวมไปถึงการจัดการพื้นที่สีเขียวทั้งในร่มและกลางแจ้ง เพื่อพัฒนา “อาคารที่หายใจได้” (Breathing Buildings) การประหยัดทรัพยากรน้ำและวัสดุ การกำจัดของเสีย รวมทั้งการรีไซเคิลของเสียจากการก่อสร้าง  

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการรับรองอาคารและวัสดุสีเขียวก็เข้มข้นควบคู่ไปด้วยเช่นกัน  

                           จีนเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยสร้างอาคารสีเขียวแห่งโลกอนาคต (3)

ปัจจุบัน จีนมีการรับรองอาคารสีเขียวระดับชาติ ออกเป็น 4 ระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับ 1 ดาว ระดับ 2 ดาว และระดับ 3 ดาว โดยกำหนดมาตรฐานการประเมินอาคารสีเขียว (Green Building Evaluation Standard) ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2006 และปรับสู่เวอร์ชั่นใหม่ในปี 2019  

โดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการก่อสร้างในระดับท้องถิ่นของจีนสามารถปรับเปลี่ยนมาตรฐานการประเมิน และมอบใบรับรองอาคารสีเขียวระดับพื้นฐาน ระดับ 1 ดาว และระดับ 2 ดาว  

ส่วนในรับรองระดับ 3 ดาวจะได้รับจากหน่วยงานก่อสร้างแห่งชาติ อาทิ กระทรวงการเคหะและการพัฒนาชุมชมเมือง-ชนบทของจีน ทำให้การรับรองเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองความเป็นผู้นําด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 

ในช่วงหลายปีหลัง จีนได้กำหนดมาตรฐานการกำกับควบคุมและเป้าหมายอาคารสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวม จีนตั้งเป้าว่า ในช่วงแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) อาคารใหม่ทั้งหมดในจีนจะต้องได้รับใบรับรองระดับพื้นฐานเป็นอย่างน้อย และอย่างน้อย 30% ต้องได้รับระดับ 1 ดาวภายในปี 2025  

นอกจากความครอบคลุมในหลากหลายด้าน อันได้แก่ ความปลอดภัยและความทนทาน สุขภาพและความสะดวกสบาย ความสะดวกสบายในการเข้าพัก การอนุรักษ์ทรัพยากร และความน่าอยู่ของสภาพแวดล้อม มาตรฐานการประเมินที่ออกใหม่ก็มีแนวโน้มเข้มข้มและเจาะจงยิ่งขึ้นเช่นกัน

อาทิ ในปี 2019 จีนออกมาตรฐานการคํานวณการปล่อยคาร์บอนในอาคาร และในปี 2021 ก็คลอดกฎทั่วไปสําหรับการอนุรักษ์พลังงานอาคารและการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการปล่อยคาร์บอน 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาคารทุกประเภทมีสิทธิ์ที่ จะสมัครขอใบรับรองและฉลากอาคารสีเขียว แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่ใช่ข้อกําหนดภาคบังคับทั่วประเทศ ในทางปฏิบัติ เราจึงเห็นการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามความเป็นเจ้าของโครงการ ระดับความเจริญของเมือง และขนาดของโครงการ 

เช่น การกำหนดให้ใช้เงื่อนไขดังกล่าวกับอาคารที่รัฐบาลลงทุนใหม่บางแห่ง ที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่แพงในบางหัวเมือง และอาคารสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางเมตร  

ด้วยเงื่อนไขและกฎระเบียบด้านอาคารสีเขียวและที่เกี่ยวข้องที่เข้มข้นขึ้นดังกล่าว จึงทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการอาคารสีเขียวน้อยใหญ่ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นรวมถึง 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ!
 

รัฐบาลจีนจัดการกับความท้าทายดังกล่าวอย่างไร ไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน