ส่องระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ‘คุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้’

05 ก.ค. 2567 | 22:40 น.

ส่องระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ‘คุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้’ : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพในประเทศที่มีสถิติคนอายุยืนที่สุดในโลก วันนี้ผมจะมาชวนคุยเกี่ยวกับ “ประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นประชาชนจะจ่ายค่าบริการทางด้านสุขภาพสูงสุดไม่เกิน 30% ในขณะที่รัฐบาลจ่ายส่วนที่เหลืออีก 70% ของค่าบริการสุขภาพต่างๆ ที่ยังรวมไปถึง การคัดกรองโรค, การดูแลก่อนคลอด, การควบคุมโรคติดต่ออีกด้วย ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและในเวทีระดับโลก

ส่องระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ‘คุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้’

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นกันก่อนครับ ในประเทศญี่ปุ่นมีประกันสุขภาพมากกว่า 1,000 ประเภท ประชาชนทุกคนจะมีประกันสุขภาพ ที่แบ่งตามสถานะการจ้างงาน ที่อยู่ และอายุ แต่ทุกประเภทอยู่ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่จะช่วยจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสุขภาพในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผลจะสรุปแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจดังนี้

1) ระบบประกันสุขภาพภายใต้การจ้างงาน (Employees’ Health Insurance scheme: EHI) เป็นระบบประกันสำหรับพนักงานที่ทำงานประจำในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้นายจ้างและลูกจ้างจะต้องช่วยกันจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพร่วมกันอัตราส่วน 10-13% ของรายได้พนักงาน

2) ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) เป็นระบบที่ให้การคุ้มครองสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนในประเทศที่ไม่ได้ทำงานประจำ เช่น นักเรียน เกษตรกร บุคคลวัยเกษียณ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ระบบนี้ประชาชนจะต้องจ่าย อัตราเงินสบทบขึ้นอยู่กับการกำหนดของรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่รัฐบาลกลางให้เงินอุดหนุน 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในราคาที่ลดลงอย่างมาก

ส่องระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ‘คุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้’

3) ประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Late-Stage Medical Care Scheme) เป็นระบบประกันสุขภาพสำหรับหรับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป หรือมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี แต่พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระบบนี้บริหารจัดการโดยรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่ผู้ประกันตนร่วมกันจ่ายเงินสมทบ 10% รัฐบาลให้เงินอุดหนุนอีก 50% และเก็บภาษีจากคนวัยทำงานอีก 40% แต่ก็ละเว้นบางกรณีอย่างกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยสามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ สำหรับการจัดเก็บเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจะใช้วิธีหักผ่านบัญชีธนาคารหรือหักจากเงินบำนาญแทน

ทั้งสามระบบประกันสุขภาพนี้ให้การคุ้มครองที่เรียกได้ว่า ครอบคลุมบริการที่จำเป็นเกือบทั้งหมด ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การผ่าตัด ยา สิทธิ์ทันตกรรม และบริการทางการแพทย์อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการคุ้มครองสำหรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในบางกรณีอีกด้วย

ความน่าสนใจของการให้บริการสาธารณสุขของที่ญี่ปุ่นคือ ค่าบริการของสถานพยาบาลทุกประเภทแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคลินิกขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ด้วยระบบที่มีกลไกประกันสุขภาพที่บริษัทจ่ายหรือที่ร่วมจ่ายกับภาครัฐทำให้คนญี่ปุ่นจ่ายเงินกับค่ารักษาพยาบาลไม่แพงนัก บางรายการอาจจะถูกกว่าไทยด้วยซ้ำ

ส่องระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ‘คุณภาพชีวิตที่เลือกเองได้’

ถึงแม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นจะมีความเป็นเลิศ แต่ผมก็ยังเห็นว่ายังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ไม่ว่าจะเรื่องของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว แต่คนวัยทำงานกลับมีน้อยลง ซึ่งผู้สูงอายุต้องการการดูแลด้านสุขภาพมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ในทางกลับกันในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นนับว่ายังเติบโตช้ากว่าในอดีต ส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลในการทำหลักประกันสุขภาพของประชาชนหดตัวลง

“ประเทศญี่ปุ่นจะมีงบประมาณมาสนับสนุนด้านนี้ได้อีกนานแค่ไหน?” เป็นคำถามสำคัญไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่น รวมถึงไทย และรัฐบาลอีกหลายประเทศ เป็นการวางรากฐานในปัจจุบันเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เติบโตในอัตราเร่งในอนาคต

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,006 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567