ชีวิตยุคใหม่ไปได้สวยด้วยมืออาชีพ (9)

29 ก.ย. 2566 | 23:30 น.

ชีวิตยุคใหม่ไปได้สวยด้วยมืออาชีพ (9) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย…ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3927

ภาวะ คือ ความมีในสิ่งนั้นที่ปรากฏ ถ้าปรากฏชัดว่า แฟนวิ่งร้อยเมตรแซงสุนัขโผเข้ามากอดเรา (ฮา) แสดงว่า แฟนเรายังคงมีใจยินดี ถ้าแฟนเราเขาหันหน้าไป ยินยล คนสวยที่เดินผ่าน กริยาอาการ ตาดู หูเงี่ย (ยิน คือ รู้สึกด้วยหู ยล คือ มองดูแลเห็นด้วยตา) อย่าเพิ่งโวยเอ็ดตะโร มันก็แค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

สาวคนนั้นคงจะเกิดวันอาทิตย์ แฟนเราเกิดวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ก็จะโดนอาทิตย์ดึงไปดูดเป็นธรรมดา (ฮา) อาละวาดกันบ่อยครั้งระวังแฟนราจะเกิด “ภาวะสิ้นยินดี” อาการที่ว่านี้ อาจจะผุดขึ้นมาจากปฏิกริยา ธุระไม่ใช่ คือ ไมล้ำเส้น หรือ ใช่แต่ไม่สนใจเอามาเป็นธุระ เพราะว่า ระอา หรือ ขี้เกียจ
 

โครงการตำราคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เขามีนิทาน “ธุระไม่ใช่” อ่านไปยิ้มไปยกไลค์ให้หนึ่งโป้ง

ชาวนาสองผัวเมีย ไม่ได้แปลว่า บ้านนี้มีสองผัวและสองเมีย (ฮา) หมายถึง นับจำนวนคนแล้วบ้านนี้มี หนึ่งผัว กับ หนึ่งเมีย กินอยู่ด้วยกันจึงพูดย่นย่อกันติดปากว่าสองผัวเมีย (อิๆ) ทั้งคู่ เดี๋ยวนะ ไม่ได้พูดถึงรองเท้า (ฮา) ทั้งคู่ คือ สองคนที่อยู่ด้วยกัน (อิๆ) เล่นมุกมากไป ถ้าไม่โดน ทัวร์ลง ก็น่าจะโดน ใบเหลือง จาก ท่าน บก.บห. ก็เอาเป็นว่า สองผัวเมียก่อร่างสร้างตัวจนเป็นเศรษฐี มีที่นาเป็นพันๆ ไร่ มีคนงานฝ่ายต่างๆ หลายฝ่ายช่วยทำนา เมื่อขายข้าวได้เศรษฐีก็เอาเงินมาจ้างคนงานเหล่านี้

อยู่มาปีหนึ่ง รายได้จากการขายข้าวไม่พอที่จะจ้างคนงาน เศรษฐีสงสัยว่าพวกที่ขายข้าวคงยักยอกเงินไว้ ข้องใจก็เอา “หมายคน” มาถาม ฝ่ายขายข้าว พวกขายข้าวก็ตอบว่า “พวกนวดข้าวส่งมาให้เท่านี้” เศรษฐีจึงเอา “หมายคน” ไปถามฝ่ายนวดข้าว พวกนวดข้าวก็ตอบว่า “เก็บข้าวได้เท่าใดก็นวดเท่านั้น” เศรษฐียังเอา “หมายคน” ไปถามฝายเก็บข้าว พวกเก็บข้าวก็ตอบว่า “พวกดำนาได้เท่าใดก็เก็บเท่านั้น”  (ฮา) 

พนักงานพวกนี้คงจะคุ้นเคยกับการลอกการบ้าน เศรษฐียังขยันหนีบ “หมายหลายคน” เข้าไปซักถามกับ ฝ่ายดำนา ว่า “ทำไมดำนาไม่หมด ปล่อยให้ที่นาบางแห่งว่างเปล่า” พวกดำนาก็ตอบว่า “เขาไถได้เท่าใดเราก็ดำได้เท่านั้น”  เศรษฐีเขวี้ยง “หมายหลายคน” ทิ้งแล้วถาม ฝ่ายไถนาว่า “ทำไมไม่ไถนาให้หมด” พวกไถนาก็อึกอักตอบว่า “วัวแต่ละตัวผอมมาก มันไม่มีแรงที่จะไถนาได้หมด” 

                           ชีวิตยุคใหม่ไปได้สวยด้วยมืออาชีพ (9)

เศรษฐีเดินกุมขมับบากหน้าเข้าไปถาม ฝ่ายเลี้ยงวัว ว่า “เลี้ยงวัวอย่างไรวัวจึงได้ผอมเช่นนั้น” ฝ่ายเลี้ยงวัว หน้าซีด ตอบตะกุกตะกักว่า “พวกเราได้ตัดหญ้ามาให้วัวกินเป็นประจำ วัวไม่ค่อยได้กิน พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร”

เศรษฐีแปลกใจจึงไปแอบเฝ้าดูเวลาวัวกินหญ้าก็เห็น หมาตัวโปรด ขบกัดวัว และ เห่าวัว ไปตามประสา “หมาปากหมา” (ฮา)

คนเลี้ยงวัวไม่กล้าตีหมาตัวนั้น เพราะปู่ย่าตายายสอนเอาไว้ดีว่า “จะตีหมาให้เกรงเจ้า” เศรษฐีเจอต้นตอคาตาว่า ไอ้หมาตัวนี้ ธุระเองก็ไม่ใช่ ชอบเผือกเรื่องคนอื่น จึงไล่หมาตัวนี้ออกจากบ้าน นับแต่นั้นผลผลิตก็ได้ผลดีเหมือนเดิม

เศรษฐีสองผัวเมีย “รู้จัก วางเฉย แต่ ไม่เฉยเมย ต่อสิ่งที่ได้พบเห็น” เข้าข่ายติดอันดับ 1 ใน 11 หลักของ “มืออาชีพ” คนอื่น เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ พี่แก เอาหูไว้ฟังเมีย เอาตาไปส่องนากับหมาตัวแสบ

บทบาทพื้นฐานของมือสมัครเล่นที่คิดว่า จะเป็นมือปฏิบัติจริง พึง รู้ไว้ใช่ว่า ปรับปรุง พัฒนา อภิบาล มีลายแทงบ่งว่า “ปรับปรุง” คือ “แก้ไขให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น” ทั้งนี้ “พัฒนา” คือ “ทำให้เจริญ” จำแนกอีกนิดว่า “เจริญ” คือ “เติบโตและงอกงาม” ยกเว้น “เจริญแล้วละมึง” แปลว่า “ชะตากำลังจะตก” (ฮา) 

“อภิบาล” คือ “บำรุงรักษา” แยกแยะอีกอีกหน่อยว่า “บำรุง” คือ “ทำให้งอกงาม” และ “รักษา” คือ “เยียวยา ดูแล สงวนไว้” อาศัยใจกล้าหน้าวิชาการก็รีบคว้า คำแปล เอามามัดรวมกันเพื่อ สื่อให้ได้ความว่า ก่อนจะลงมือรับมรดกตกทอด เราต้อง “แก้ไขการงานทุกปัจจัยให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น ขับเคลื่อนภาระให้เติบโตและงอกงามจะได้ก้าวหน้ายิ่งกว่า หมั่นสอดส่องบำรุงรักษาให้มั่นคงจะได้มั่งคั่ง”

Guru ผู้หนึ่งมีทัศนะว่า “นักอุดมการณ์ พร้อมจะเสียสละชีวิตเพื่อความคิดนั้น แต่ นักปฏิบัติการ ไม่จำต้องเสียสละชีวิตเพื่อความคิดนั้น” ด้วยความคุ้นเคยจึงขอคุยเป็นการส่วนตัวว่า “ผมขอมโนว่า อาจารย์เป็นนักเรียนนอก คติพจน์นี้ก็น่าจะเป็นแง่คิดของปราชญ์ตะวันตก ผม ขอโทษ และ ขออนุญาต เล่าความเห็นในมุมมองของผมว่า นักปราชญ์ผู้ที่สร้างคติพจน์ท่านนี้ จ่ายยาไม่ครบโด๊ส” Guru ท่านพูดตรงไปตรงมาว่า “ว่ากันมาให้เคลียร์เลย ไม่ต้องกั๊กไว้”

ผมก็ถามท่านว่า “อาจารย์คิดว่า ทหารสามจังหวัดภาคใต้ เป็นนักอุดมการณ์ หรือ เป็นนักปฏิบัติการ” Guru ตอบว่า “เป็นนักปฏิบัติการ!” ผมปรารภว่า “เขาเป็นครบทั้ง นักอุดมการณ์ และ นักปฏิบัติการอุดมการณ์ของทหาร คือ วินัย

วินัย คือ คำมั่น คำมั่น คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณขานรับหลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เขาถุยไปแล้วว่าจะสู้ด้วยกัน!”