รอยยิ้มที่เกิดจาก วัฒนธรรมอุแว้ ก็มีสีสันไปแบบหนึ่ง จูลี่ แคนคลินี ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ภาษาฝรั่งเศส เล่าผ่านสื่อไปทั่วโลกว่า “ในฝรั่งเศส เรามักจะหัวเราะเยาะคนแปลกหน้าบนท้องถนน ถ้าคุณนั่งบนระเบียงร้านกาแฟคอยมองดูใครต่อใครที่เดินผ่านไปมา คุณอาจจะหัวเราะออกมาได้ เพียงแค่ดูการแต่งกาย หรือ การเดินของอีกฝ่าย เพียงแค่ สบตาอีกฝ่ายสักครู่ ก็เพียงพอที่จะเริ่มหัวเราะได้ เพราะว่า คุณจะเห็นรอยยิ้มตอบกลับมาให้คุณรู้ว่า พวกเขาก็คิดอยู่เหมือนกัน”
รอยยิ้มที่เกิดจาก วัฒนธรรมหลอดแก้ว ก็มีรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง
ในแดน ซีเรีย เขาก็มีรอยยิ้มจาก เรื่องจิ้มบั้นเอว จึงเก็บมาเล่าให้ฟังเพื่อคลายเครียด มีเรื่องโดยย่อว่า หลังจาก ฮัดเช้ย และ ดินเทา หายหน้ากันไปหลายปี กระทั่งวันหนึ่งเขาเวียนวนมาเจอกันอีก ฮัดเช้ย เอ่ยถาม ดินเทา ตามฟอร์มนิยมว่าเป็นไงบ้าง ดินเทา เล่าว่า “ผมสบายดี แต่ผมหาภรรยาไม่เจอ เธอคงจะหายตัวเข้าไปในห้างสรรพสินค้า”
ฮัดเช้ย รำพึงบ้างว่า “ผมเองก็หาภรรยาไม่เจอเหมือนกัน ว่าแต่ว่า ภรรยาของคุณหน้าตาเป็นยังไง” ดินเทา บอกว่า “เธอผอม สูง ผมบลอนด์ เคยทำงานเป็นนางแบบ ภรรยา คุณล่ะ หน้าตาเป็นยังไง” ฮัดเช้ย ยิ้มแล้วพูดว่า “ไม่ต้องสนใจภรรยาผม ไปหาภรรยาคุณกันดีกว่า” (ฮา)
“Atithi Devo Bhava” แปลว่า “แขกเปรียบเสมือนพระเจ้า” เป็น สุภาษิตยอดนิยม ของ วัฒนธรรมอินเดีย เขาถือว่า “แขก” เป็น “สิ่งที่สำคัญที่สุด” ชาวอินเดียเคยเล่าให้ผมฟังว่า “ทุกคนในบ้านจะกินข้าวปลาอาหารหลังจากแขกผู้มาเยือนทานเสร็จแล้ว!” ผู้มาเยือนหลานคนเขาไม่รู้ธรรมเนียมเรื่องนี้ ทานเพลินตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายสอง เจ้าของบ้านแอบทาน “เอื้อก” รองท้อง เอื้อก คือ น้ำลาย นั่นเอง (ฮา)
มหาตมะ คานธี ท่านกล่าวไว้ว่า “ลูกค้า คือ บุคคลที่สำคัญที่สุด ที่มาเยือนเราในสถานที่นี้ เขามิได้พึ่งเรา เราต่างหากที่จำเป็นต้องพึ่งเขา เขาไม่ได้มาขัดจังหวะการทำงานของเรา การรับใช้เขา คือ
วัตถุประสงค์ของงานเรา เขามิใช่บุคคลภายนอก แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเราทีเดียว ในการรับใช้เขานั้น เรามิได้ช่วยอะไรเขาเลย เขาต่างหากเป็นฝ่ายช่วยเหลือเราโดยให้โอกาสแก่เราที่จะได้รับใช้เขา!”
การกินอาหารในญี่ปุ่นรุ่นดั้งเดิมเขาจะไม่คุยกัน ทุกคนจะจดจ่อกับอาหาร ต่อให้มีแขกมาทานอาหารเย็นสัก 20 คน เขาก็ยังกินกันเงียบๆ ผู้มาเยือนกลับถึงบ้านก็เล่าให้ภรรยาฟังว่า มันตลกซะจริงๆ ไทยเราเก๋ากึ๊กก็บอกลูกๆ นะว่า “อย่าคุยกันในเวลากินอาหาร” ข่าวคราวในสมัยดึกดำน้ำจึงไม่ปรากฏว่า มีใครสำลักในโต๊ะอาหาร ไม่งั้นอาหารจะเลี้ยวผิดเลนแล่นลงไปค้างแรมอยู่ในหลอดลม (ฮา)
บางประเทศเขามีกฎกติกา จนน่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโทษฐานรบกวนสิทธิเสรีภาพในการกินสุดจะจุกจิก เช่น “อย่าเติมเครื่องปรุงก่อนชิมอาหาร เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติเชฟผู้ทำอาหารจานนั้น” หลายคนไม่คุ้นเคยก็บ่นกันพึมว่า “อ้าว! รสชาติไม่อร่อย แล้วจะให้กลืนให้มันลงไปกร่อยอยู่ในปากทำไม ฉันไม่ได้มานั่งหม่ำมื้อนี้เพื่อปรารถนาจะบรรลุเป็นพระอรหันต์นะเนี่ย” (ฮา)
ยังมีกฎอีกเยอะ อย่างเช่น “อย่าใช้ ส้อม ช้อน หรือ มีด กระทบกัน รับประกันว่า ไทยสายหม่ำ คงจะสอบตกกันทั้งโต๊ะ (ฮา)
ประเทศนั้น เมื่อหั่นอาหารเป็นชิ้นๆ เรียนร้อยแล้ว ต้องวางมีดและเปลี่ยนมาใช้ส้อมจิ้มอาหารใส่ปากแบบหงายขึ้นแทน ประเทศโน้น เมื่อหั่นอาหารไปรับประทานไป ไม่หันทิ้งไว้ โดยถือส้อมด้วยมือซ้ายและนำอาหารเข้าปากแบบคว่ำส้อมลง
ต้องขอซูฮกสู้หน้าสบตากันด้วยความจริงใจกับ แอฟริกา และ อินเดีย
จะใช้มือขวาในการรับประทานอาหารท้องถิ่น หากใช้มือซ้ายจะถือว่าเป็นการไม่เคารพ นึกแล้วเห็นภาพโดยพลัน (ฮา)
ประเทศที่ทานอาหารอย่างมีชีวิตชีวาได้รสได้ชาติ ไม่มีใครเกิน ญี่ปุ่น เขายกซุปขึ้นมาซด ซร้วบ ซร้วบ จัดว่าอีหลีข้ามโต๊ะโป๊ะเชะกันเลยแหละ
ไทยเรามีคำขวัญพูดกันติดปากเสมอมาว่า “อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ยังพอจะจำกันได้นะว่า หน้าบ้านคนไทยสมัยนู้น เขาจะมีโอ่งน้ำสะอาดเอาไว้ให้ใครก็ได้ที่มาแวะดื่ม เขามี กระบวย! ทำด้วยกะโหลกมะพร้าว มีด้ามถือสำหรับเอาไว้ตักนํ้าดื่ม น่าสนใจตรงที่เขามีสองขนาดซะด้วย
เล่าลือกันมานานว่า ถ้าใครเอากระบวยขนาดเล็ก ตักน้ำในโอ่งมาดื่มแล้วตักซ้ำ เพราะยังไม่สาแก่ใจ หรือ เอา กระบวยขนาดใหญ่ ตักน้ำในโอ่งมาดื่มแล้วเททิ้งเพราะดื่มไม่หมด จะโดนผู้เฒ่าเขาเอาด้ามกระบวยโขกกบาลเบาๆ เพื่อเตือนว่า “ก่อนจะดื่มควรคิดสักนิดว่าตักให้มันพอดี” ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่โดนโขกกบาลในกรณีนี้ เขาจะบรรลุหลัก ”สายกลาง” กันไปบ้างหรือยัง (ฮา)
ผมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ไปถามขอความเห็นผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ท่านก็ตอบได้สมเนื้อสมน้ำ(หน้า) แนะนำคะมำหายกันตรงไปตรงมาว่า “คุณจำไว้นะ ของฟรีอย่าเรื่องมาก!” (ฮา)