"เชฟชุมพล แจ้งไพร" Head judge ผู้ดูแลเรื่องอาหารให้กับผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ในการประชุม APEC และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการประกวด ได้ให้มุมมองถึง อาหารอนาคต ไว้ว่า อาหารอนาคตที่ดี ต้องมี 4 สิ่ง คือ คนปลูกยั่งยืน คนทำยั่งยืน คนกินยั่งยืน โลกยั่งยืน แต่ทั้งหมดต้องเริ่มจากต้นน้ำที่ดี เกษตรกรไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารเคมี คนทำ คนผลิตสร้างมูลค่าได้ คนกินซึ่งเป็นผู้บริโภคได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ สู่การดูแลโลกให้ปลอดภัยแบบยั่งยืน
การประกวด "เมนูอาหารไทย" ที่ผ่านมา เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพ ภายใต้โครงการ "เอเปค ฟิวเจอร์ ฟู้ด ฟอร์ ซัสเตนนะบิลิตี้" (APEC Future Food for Sustainability) มีผู้สมัครแข่งขันทั้งหมด 2,018 ทีม หาผู้ชนะเลิศในการเป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อนำเสนอเมนู Future Food หรือ อาหารอนาคต ต้อนรับผู้นำเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด BCG โมเดล ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเชิญชวนเข้าร่วมประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา
ในฐานะคณะกรรมการโครงการ Future Food for Sustainability "เชฟชุมพล" กล่าวว่า ต้องการผลักดันอาหารอนาคต ไปสู่คุณภาพยั่งยืน พร้อมจุดประกายให้คนในแวดวงอาหารไปสู่การพัฒนาได้
“ขอย้ำว่าอาหารอนาคต ต้องมาจากต้นน้ำที่ดี มีมูลค่าที่ดี เพราะจะเป็นพลังสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจและชีวิตพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น นำไปสู่เกษตรยุคใหม่ เกษตรอัจฉริยะที่มีคุณภาพ ทำให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืนและแข็งแรง”
นาย สันติ อาภากาศ CEO & Co-Founder TASTEBUD LAB ผู้บุกเบิกนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการประกวดอีกท่าน กล่าวว่า อาหารอนาคต คือบริบท ที่มนุษย์จะทำยังไงให้การผลิต การแปรรูป การกระจายอาหาร การปรุงอาหาร เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถส่งต่อคุณค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้อนาคตมีระบบอาหารที่ยืดหยุ่น มั่นคง ยั่งยืน อาหารอนาคตต้องดีต่อใจ อร่อย ปลอดภัย สะอาด มีคุณภาพ ขณะเดียวกันราคากับโภชนาการ ต้องสมเหตุสมผล หาซื้อได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
"อยากจุดประกายให้คนในแวดวงอาหาร มีการพัฒนา และลงมือทำ โดยนึกถึงผลกระทบที่ดีต่อโลก สังคม ชุมชน ไม่ได้จบที่จานหรือจบที่ปากเราอย่างเดียว เราต้องคิดว่า การที่ได้มาซึ่งอาหารกับผลกระทบการบริโภคของเรา ไปกันได้กับการแปรรูปของวัตถุดิบที่เราได้มาหรือไม่ ทำยังไงให้กลับไปส่งเสริมรากฐานภูมิปัญญาของชุมชน และส่งเสริมคนที่ทำดีๆ กับผืนป่า กับต้นน้ำของเรา"
ทำให้มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มั่นคงต่อไปในอนาคต ผ่านแนวคิด 3 ดี คือ ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก เข้าใจแนวคิดระบบอาหารแห่งอนาคต คิดเลยว่าถ้าอาหารที่จะทำให้ผู้นำเอเปคบริโภคหรือทำในอนาคตก็ตาม ไม่ใช่แค่นึกถึงนวัตกรรมอาหาร เทคโนโลยี เทคนิคการทำอาหาร อย่างเดียว แต่มันคือบริบทและมายเซ็ทที่เข้าใจได้ว่า ทำยังไงให้ 3 ดี ควบคู่กัน เกื้อกูลกันได้ในอนาคต
การประกวด Future Food for Sustainability ผู้เข้าแข่งขันที่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ จะส่งแรงกระเพื่อมที่ดี ต่อภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารแนวคิด 3 ดี สื่อสารถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างมีเหตุมีผล และมุ่งเป้าการสร้างการเกื้อกูลกันบนระบบอาหารแห่งอนาคต เห็นการตื่นตัวของผู้เข้าประกวดตั้งแต่คิดไอเดีย เป็นการตื่นรู้ที่ดีมาก ทีมที่เข้ารอบมา 21 ทีม แต่ละท่านทำอะไรอยู่บนเสาหลักด้านระบบอาหารอนาคต แต่ละคนมีการออกเดินทางของตัวเอง ที่เราเชื่อว่าจะอยู่ร่วมกันได้
สำหรับทิศทางอาหารอนาคตจากไทย หลังมีการนำเสนอเมนูอาหารอนาคตให้กับสื่อมวลชนในการประชุม APEC ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของวัตถุดิบอาหารของไทย รวมไปถึงภูมิปัญญาที่ชัดเจนของชุมชน เห็นภาพคนต้นน้ำที่ยกระดับมาอีกขั้น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามา
ทิศทางที่เห็นคือ เข้าใจความต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงอาหาร และสิ่งแวดล้อมกับประชาคมโลกยิ่งขึ้น เรามีอาหารอนาคตที่ตอบโจทย์เทรนด์ที่โลกกำลังสนใจหรือมองหาอยู่ ในมุมมองที่อินกับอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน หรือ อาหารที่ตอบโจทย์โภชนาการเฉพาะกลุ่ม จากเดิมที่เรามีดีอยู่แล้ว ก็ดึงสิ่งนั้นมาทำให้อยู่ในเทรนด์ที่ทั่วโลกต้องการ อาหารไทยเราไม่ได้น้อยหน้าหรือแพ้ชาติใดในโลก
ทาง TASTEBUD มีการรวมตัวกลุ่มผู้สนใจด้านอาหารอนาคต ชื่อกลุ่ม ‘ฟิวเจอร์ ฟู้ด เน็ตเวิร์ค’ เป็นเครือข่ายผู้สนใจพัฒนาด้านอาหารอนาคตของประเทศไทย หลังจากจบโครงการ มีแนวคิดว่า ที่จะเชิญทุกคนเข้ามาอยู่ในเครือข่ายด้วยกัน โดยเฉพาะทีมที่ได้รับรางวัล สนใจจะไปต่อยอดในฟิวเจอร์ ฟู้ด กลุ่มไหน และเขาต้องการอยู่ในระยะที่ต้องการการสนับสนุนแค่ไหน ทาง TASTEBUD จะร่วมพัฒนาด้วย เหมือนกับเป็นบัดดี้ช่วยพัฒนาอย่างใกล้ชิด แล้วก็ผลักดันให้กับหน่วยงานที่สนใจ