“ทรัมป์” มาแน่ ? ไทย-โลกเตรียมรับมือ “ความเสี่ยง”

14 ก.ค. 2567 | 05:40 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2567 | 06:09 น.

ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐทวีความดุเดือด ล่าสุดโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บบนเวทีหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย แต่เจ้าตัวยังชูกำปั้นและพูดคำว่า “สู้! สู้! สู้!”

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ผลการดีเบตครั้งที่ 1 ของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 จัดโดย CNN ส่งผลต่อคะแนนนิยมและตัวแทนพรรคเดโมแครตของไบเดน มีเสียงเรียกร้องในและนอกพรรคให้เปลี่ยนตัวไบเดน

ก่อนการดีเบต (วันที่ 20 มิย 67) ความนิยมทรัมป์นำไบเดน 55% ต่อ 45% หลังดีเบต (27 มิ.ย. 67) ทรัมป์เพิ่มเป็น 67% ต่อ 33% นอกจากนี้ CNN Poll พบว่าคนสหรัฐฯ  70% ระบุพรรคเดโมแครตจะชนะเลือกตั้งได้ หากเปลี่ยนไบเดน รวมไปถึง สส. และนายทุนพรรคให้เปลี่ยนตัวเช่นกัน

ตัวแทนที่จะขึ้นมาแทนที่ไบเดน น่าจะเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นาง Kamala Harris และผู้ว่าการของพรรค  (ผู้ว่าการรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต 23 คน จากรีพับลิกัน 27 คน)  ได้แก่ นาง Gretchen Whitmer (Michigan Governor) นาย Gavin Newsom (California Governor)  และนาย Pete Buttigieg (Transportation Secretary) เป็นต้น (ทั้ง 3 คน มีแผนลงสมัครในปี 2028  และยืนยันยังสนับสนุนไบเดนต่อไป) โดยนาง Harris  คือ “Top Choice”

แต่ความนิยมของคนสหรัฐฯ ต่อทั้ง  3 คน ยังตามหลังทรัมป์ ที่น่าสนใจคือ นางมิเชล โอบามา ผลสำรวจของ Reuter Poll นางมิเชลคนเดียวที่มีความนิยมเหนือทรัมป์ (50 ต่อ 39) อย่างไรก็ตามไบเดนยืนยันชัดเจน พร้อมเลือกตั้ง “มีพระเจ้า (Lord Almighty)” เท่านั้นที่จะทำให้เปลี่ยนใจ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง 2024 จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ สามารถแบ่งออกเป็นความเสี่ยง 2 เรื่องใหญ่คือ

1.เสี่ยงเศรษฐกิจแบบปกป้องและกีดกัน ทรัมป์มีนโยบายชัดเจนปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐฯ การลดการขาดดุลการค้าเดินหน้าต่อ งานแรกที่ทรัมป์เคยทำคือการตรวจสอบ 16 ประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาก รวมทั้งประเทศไทย (ในอาเซียน สหรัฐ ฯ ขาดดุลเวียดนาม มาเลเซีย และไทยมากสุด) ภายใต้ “American First” หากทรัมป์มา ประเด็นนี้จะเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว

สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าตั้งปี 1970 ขาดดุลหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จาก 380 พันล้านเหรียญ เป็น 1,311 พันล้านเหรียญ ปี 2022  และลดลงเหลิอ 770 พันล้านเหรียญในปี 2023 ช่วงทรัมป์ขาดดุลเพิ่มจาก 543 เป็น 858 พันล้านเหรียญ

ช่วงไบเดนขาดดุลจาก 971 เหลือ 770 พันล้านเหรียญ ทำลายห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมการผลิตที่เชื่อมโยงกับสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ 2 เรื่องคือจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม และฐานการผลิตจีนที่ย้ายมาไทยและอาเซียนเพื่อส่งไปสหรัฐฯ จะถูกตรวจสอบการทุ่มตลาด เสี่ยงถูกเก็บภาษีทั้งอุตสาหกรรม  การค้าโลกสะเทือน สมัยทรัมป์ไทยส่งออกไปตลาดโลกโตเฉลี่ย 2% สมัยไบเดนไทยส่งออก 6% ทรัมป์คือตัวพ่อ “ลัทธิชาตินิยม (hypernationalist approach)และต่อต้านพาหุภาคี เช่น ยกเลิกเข้าร่วม WTO, TPP, UNESCO, "Iran Nuclear Agreement" และ "Paris Agreement"

“ทรัมป์” มาแน่ ? ไทย-โลกเตรียมรับมือ “ความเสี่ยง”

2.เสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สู่สงครามบานปลาย ทรัมป์จะลดการสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธให้ยูเครน และจะเจรจากับรัสเซียแทน (ปัจจุบันสหรัฐฯ คิอ ผู้บริจาครายใหญ่ให้ยูเครน) ความเสี่ยงและภาระค่าใช้จ่ายจะตกกับประเทศยุโรปและนาโต้ ยุโรปจะเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอย  ขณะที่สงครามในตะวันออกกลางจะเข้มข้นขึ้นจากการสนับสนุนอิสราเอลของทรัมป์ (เช่น กรณีการรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอล) เป็นต้น

ยกเว้นกรณีไต้หวัน ทรัมป์จะลดการพึ่งพิงชิปจากไต้หวัน แต่หันมาผลิตเอง และไม่สนับสนุนไต้หวันทำสงครามกับจีน หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศตนเองเป็นหลัก เหมือนกับที่อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “เซอร์ เคียร์ สคาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer)” เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลเลือกตั้ง สส. ฝรั่งเศส ที่พรรคฝ่ายซ้ายได้รับจำนวนที่นั่ง (186) มากกว่าพรรคประธานาธิบดีมาครง (163) ก็เพราะนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งค่าครองชีพ ขึ้นค่าจ้างรายเดือนจาก 1,350 เป็น 1,600 ยูโร แก้ระบบเงินบำนาญ และปัญหาคนอพยพ เป็นต้น