เวียดนาม บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น-จริงจัง จัดการล้งจีนอยู่หมัด กรณีศึกษาไทย

08 ก.ย. 2567 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 09:32 น.

การส่งออกผลไม้เวียดนามขยายตัวรวดเร็ว ปี 2000 ส่งออกมูลค่า 270 ล้านเหรียญ และปี 2023 ส่งออก 3.5 พันล้านเหรียญ (ไทยส่งออกผลไม้ 4.8 พันล้านเหรียญ) ตลาดส่งออกผลไม้หลักเวียดนามคือ จีนสัดส่วน 60% ตามด้วยสหรัฐฯ 15% และยุโรป 10%

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

การส่งออกผลไม้ไปตลาดจีน เวียดนามส่งออกผลไม้ไปด่านสำคัญหลัก ๆ 2 ด่านคือ ด่านในจังหวัดลางเซิน (Lang Son) กับด่านในจังหวัดลาวก่าย (Lao Cai) โดยร้อยละ 70 ส่งออกผ่านจังหวัดลางเซิน และที่เหลือส่งออกจังหวัดลาวก่ายและด่านมอคก่ายในจังหวัดกว่างนิญ

 ล้งจีนในเวียดนามมีบทบาทสำคัญในตลาดส่งออกผลไม้เวียดนามไปจีน ปี 2024 มีล้งจีนจำนวน 500 ล้ง กระจายในหลายจังหวัดของเวียดนาม เช่น จังหวัดลองอัน (Long An) สัดส่วน 20% จังหวัดเตี่ยนซาง (Tien Giang) สัดส่วน  15% ด่องทับ 10% ลางเซิน 25% กว่างนิญ 10% และซอกจัง (Soc Trang) 5% เป็นต้น

แบ่งออกเป็นล้งจีนขนาดเล็กสัดส่วน 30% ขนาดกลางสัดส่วน 50% และที่เหลือเป็นล้งขนาดใหญ่ หากแบ่งตามแหล่งที่มาของเงินทุน ล้งขนาดใหญ่เงินทุนมาจากจีน มีเงินหมุนเวียน 5-10 ล้านเหรียญ และล้งขนาดกลาง (มีเงินหมุนเวียน 1-5 ล้านเหรียญ) และเล็กส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนร่วมกันระหว่างเวียดนามกับจีน (ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญ)

เวียดนาม บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น-จริงจัง จัดการล้งจีนอยู่หมัด กรณีศึกษาไทย

การมีล้งจีน ผลดี ทำให้เปิดโอกาสของผลไม้เวียดนามมากขึ้น การพัฒนาองค์ความรู้ด้านผลไม้ และการสร้างเครือข่าย ในขณะที่ผลเสียคือ การถูกกดราคา เพราะ ล้งจีนมีอำนาจในการต่อรองราคากับเกษตรกรและผู้ค้าท้องถิ่น เนื่องจากพวกเขาสามารถซื้อผลไม้ในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกน้อยและอาจต้องยอมขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และล้งจีนบางแห่งก็ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับเกษตรกรในราคาที่กำหนดล่วงหน้า แม้ว่าราคาตลาดจะสูงขึ้น เกษตรกรก็ยังต้องขายในราคาที่ตกลงไว้ ทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามดำเนินการคือ 1.ตั้งหน่วยงานในการตรวจสอบราคาเกษตรกรขายให้ล้งจีนเพื่อป้องกันการกดราคา  ชื่อว่า สำนักงานจัดการตลาด (Market Management Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ กรมจัดการตลาด (General Department of Market Management - GDM) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (Ministry of Industry and Trade - MOIT) หน่วยงานนี้มีบทบาทในการควบคุมการซื้อขายในตลาดท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ป้องกันการทุจริต การกดราคา และการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 2.กำหนดราคาขั้นต่ำ ต้องมากกว่าต้นทุนการผลิต 20-30%  3.เกษตรกรรวมกลุ่ม ในรูปแบบสหกรณ์หรือสมาคมการเกษตร เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคากับล้งจีน 4.แปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลไม้ในประเทศ เช่น การผลิตสินค้าแปรรูปหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในราคาที่สูงขึ้น

5.พัฒนาตลาดส่งออก เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน เช่น สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ และภูมิภาคอื่น ๆ 6. VietGAP เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ที่ส่งออก เป็นต้น

เวียดนาม บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น-จริงจัง จัดการล้งจีนอยู่หมัด กรณีศึกษาไทย

ล้งจีนที่ฝ่าฝืนระเบียบข้างต้นจะถูกยกเลิกใบอนุญาต ปรับตั้งแต่ 10 ล้านถึง 50 ล้านด่อง (ประมาณ 430 ถึง 2,150 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของการละเมิด และสั่งปิดใน 30 วัน เช่น กรณี จังหวัด Bình Thuận ล้งจีนกดราคามะม่วง และ ลำไย ช่วงเวลาที่ผลผลิตล้นตลาด เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม หน่วยงานท้องถิ่นได้เข้ามาตรวจสอบและปรับเงินล้งเหล่านี้เพื่อเป็นการลงโทษ

และในจังหวัด Bắc Giang ล้งจีนที่รับซื้อลิ้นจี่ถูกตรวจพบว่ามีการกดราคาโดยไม่เป็นธรรม และมีการทำข้อตกลงทางการค้ากับเกษตรกรในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบ เมื่อหน่วยงานรัฐตรวจสอบพบได้สั่งปรับและกำชับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

ผมเชื่อว่า การจัดการล้งจีนในเวียดนาม ได้ผล เพราะการบังคับใช้กฎหมายในเวียดนาม เข้มข้นและจริงจังกว่าไทย แน่ ๆ