มีความเชื่อว่าคนเราเมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีความเป็นอนุรักษ์นิยม (Conservative) มากขึ้นด้วย คือกลายเป็นคนที่ระมัดระวังไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ชอบนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ต้องการความเสี่ยง หลีกเลี่ยงความผันผวน แต่จะชอบและยึดถือคุณค่าดั้งเดิม จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อการเป็นซีอีโอและองค์กรอย่างไร มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่าผู้นำธุรกิจมักมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเมื่อบทบาททำงานในองค์กรลดน้อยลง
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการวิเคราะห์เรื่องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของซีอีโอที่ใกล้เกษียณในบริษัทกลุ่ม S&P 500 จำนวน 264 ราย เป็นระยะเวลา 12 ปี ซึ่งในบรรดาบริษัทเหล่านี้ประมาณ 20% เป็นธุรกิจครอบครัว โดยการวัดแนวโน้มความกล้าเสี่ยงของซีอีโอจะพิจารณาจากการเข้าซื้อกิจการระหว่างประเทศเป็นตัวบ่งชี้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการเข้าซื้อกิจการจะมีค่าใช้จ่ายในระยะสั้นที่สูงและต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าที่จะได้รับผลตอบแทนกลับมาก
ขณะเดียวกันก็วัดผลการดำเนินงานของซีอีโอในช่วงระยะเวลาการทำงานที่แตกต่างกัน โดยกำหนดเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 65 ปี ซึ่งเป็นอายุเกษียณมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา และ 70 ปี เพื่อศึกษาถึงบทบาทการทำงานอีก 5 ปีในฐานะกรรมการบริษัท รวมถึงวัดระดับความเสี่ยงของธุรกรรม ขนาดการซื้อกิจการ และความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับบริษัทที่ถูกซื้อกิจการอีกด้วย
ผลวิจัยยืนยันว่าซีอีโอจะเปลี่ยนไปมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเมื่อใกล้จะเกษียณจริง แต่อย่างไรก็ตามยังพบความแตกต่างที่สำคัญจากซีอีโอธุรกิจครอบครัว ซึ่งพบว่าซีอีโอที่ใกล้เกษียณจะกังวลกับเรื่องอื่นๆ เช่น มรดกและชื่อเสียงมากกว่าซีอีโอบริษัทที่มุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลัก ยิ่งไปกว่านั้นซีอีโอธุรกิจครอบครัวยังมีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อกิจการมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงส่วนบุคคลระยะสั้นอีกด้วย แต่ก็มีข้อแม้ที่สำคัญคือซีอีโอธุรกิจครอบครัวจะปฏิบัติเช่นนี้เฉพาะในบริษัทที่ครอบครัวเป็นเจ้าของและบริหารเท่านั้น
Bob de Kuyper อดีตซีอีโอของบริษัท De Kuyper Royal Distilleries อธิบายกรณีของเขาว่า “บริษัทเริ่มขยายธุรกิจในจีนตอนที่ผมใกล้จะเกษียณ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งถามว่าทำไมถึงเดินหน้าขยายกิจการนี้ต่อไป ทั้งที่กว่าจะเห็นผลตอบแทนก็คงหลังจากผมเกษียณไปนานแล้ว คำตอบคือ แม้อาจต้องใช้เวลา 20 ปีกว่าจะได้ผลตอบแทน แต่นั่นก็นับเป็นระยะเวลาที่สั้นสำหรับบริษัทอายุ 315 ปีนะ”
ทั้งนี้เหตุผลที่ซีอีโอธุรกิจครอบครัวมีมุมมองอนาคตของธุรกิจที่ยาวกว่าซีอีโอบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว อาจเป็นเพราะซีอีโอเหล่านี้มีหลายสิ่งที่ต้องสร้างและมีส่วนได้ส่วนเสียในความสำเร็จระยะยาวของบริษัทมากกว่า จึงทำให้ซีอีโอธุรกิจครอบครัวสามารถมองเห็นอนาคตของธุรกิจที่มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนได้ ในขณะที่ซีอีโอบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวนั้นจะมีวิสัยทัศน์แคบกว่ามากเมื่อนึกถึงองค์กรที่พวกเขากำลังจะจากไปหลังเกษียณ ซึ่งจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันอีกต่อไปนั่นเอง
ที่มา: PASCUAL BERRONE. April 20, 2022. Family CEOs: Aging and Conservatism. Available: https://blog.iese.edu/family-business/2022/family-ceos-aging-and-conservatism/
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,970 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2567