ธุรกิจครอบครัวไม่ใช่เป็นเพียงกิจการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สั่งสมค่านิยม ประเพณี และมรดกของครอบครัวด้วย ซึ่งหากได้รับการบริหารจัดการด้วยความใส่ใจและตั้งใจ ธุรกิจเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อและปลูกฝังค่านิยมครอบครัวเข้าสู่องค์กรอย่างดียิ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงความสำคัญของค่านิยมครอบครัวในธุรกิจครอบครัว และประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้เข้าไปในวัฒนธรรมของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของค่านิยมครอบครัว ค่านิยมครอบครัวคือหลักศีลธรรมและจริยธรรมที่เป็นตัวชี้นำการตัดสินใจ การกระทำ และความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรวมถึงความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ความเคารพ ความมีคุณธรรม และการทำงานอย่างมีวินัย สำหรับในธุรกิจครอบครัวแล้วค่านิยมเหล่านี้ไม่เพียงมีความสำคัญต่อครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความสำเร็จและความยั่งยืนของธุรกิจอีกด้วย เหตุผลที่ค่านิยมครอบครัวมีความสำคัญมีดังนี้
1.วิสัยทัศน์ระยะยาว: ธุรกิจครอบครัวมักคิดถึงอนาคตในแง่ของการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งค่านิยมครอบครัวจะช่วยสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อให้ธุรกิจมีความต่อเนื่องและเติบโต
2.ความไว้วางใจและความสามัคคี: ค่านิยมครอบครัวที่แข็งแกร่งช่วยสร้างความไว้วางใจและความสามัคคีในหมู่สมาชิกครอบครัว ซึ่งจะสะท้อนไปถึงการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและเป็นทีมที่ดียิ่งขึ้น
3.ชื่อเสียงและแบรนด์: ค่านิยมครอบครัวสามารถช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท ทำให้ธุรกิจโดดเด่นในฐานะธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีจริยธรรม
4.ความภักดีของลูกค้า: ลูกค้ามักชื่นชอบธุรกิจที่มีค่านิยมที่ตรงกับตนเอง ซึ่งค่านิยมครอบครัวสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีต่อธุรกิจ นำไปสู่ความภักดีและการซื้อสินค้าซ้ำจากลูกค้า
การปลูกฝังค่านิยมครอบครัวเข้าสู่วัฒนธรรมองค์กร สำหรับธุรกิจครอบครัวนั้น ค่านิยมไม่ใช่แค่คำที่เขียนไว้บนกระดาษหรือติดผนังไว้เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอครอบครัว และเมื่อได้รับการปลูกฝังอย่างถูกต้องจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ดังนั้นจึงมีวิธีการทำให้ค่านิยมครอบครัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโดยแท้จริงดังนี้
1.นำโดยการเป็นแบบอย่าง: ผู้นำครอบครัวควรแสดงให้เห็นถึงค่านิยมครอบครัวผ่านพฤติกรรมของตนเอง เพื่อเป็นมาตรฐานให้กับพนักงานทุกคน เช่น หากค่านิยมคือความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ผู้นำครอบครัวควรแสดงคุณลักษณะเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
2.สื่อสารอย่างเปิดเผย: สนับสนุนให้มีการสื่อสารอย่างเปิดเผยและจริงใจระหว่างสมาชิกครอบครัวและพนักงาน โดยสร้างช่องทางการพูดคุยเกี่ยวกับค่านิยมและการตัดสินใจทางธุรกิจ รับฟังความคิดเห็นและตอบสนองอย่างเหมาะสมเพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่ามีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น
3.พันธกิจและวิสัยทัศน์: พัฒนาคำประกาศพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่รวมเอาค่านิยมครอบครัวเข้าไปอย่างชัดเจน และทำให้มั่นใจว่าคำประกาศเหล่านี้ถูกใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และในการดำเนินงานประจำวัน
4.การจ้างงานและการปฐมนิเทศ: เมื่อต้องจ้างบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว ควรพิจารณาความสอดคล้องกับค่านิยมครอบครัวด้วย โดยในขั้นตอนการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ควรเน้นความสำคัญของค่านิยมในวัฒนธรรมองค์กร และควรปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เพราะเป็นสมาชิกครอบครัวจึงจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
5.การฝึกอบรมและพัฒนา: จัดให้มีโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาที่สนับสนุนค่านิยมครอบครัว อาจรวมถึงการฝึกอบรมผู้นำ การอบรมเรื่องจริยธรรม และกิจกรรมเสริมสร้างทีม
6.การให้รางวัลและการยกย่อง: ยกย่องและให้รางวัลแก่พนักงานที่ปฏิบัติตามค่านิยมครอบครัว เพื่อเสริมสร้างความสำคัญของค่านิยมเหล่านี้ภายในองค์กร
7.ความโปร่งใส: มีความโปร่งใสในการตัดสินใจของบริษัทและเรื่องการเงินกับสมาชิกครอบครัวและพนักงาน เพราะความโปร่งใสจะสร้างความไว้วางใจและแสดงถึงความมีคุณธรรม
8.การวางแผนสืบทอดกิจการ: ผนวกค่านิยมครอบครัวเข้ากับแผนการสืบทอดกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้นำรุ่นถัดไปจะเข้าใจและยึดถือค่านิยมเหล่านี้อย่างเต็มใจ
ความท้าทายของเรื่องดังกล่าวจะเป็นการหาสมดุลที่พอเหมาะระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวและความต้องการของธุรกิจ ค่านิยมค การปรับตัวของครอบครัวตามกาลเวลา และการแก้ไขเมื่อมีข้อขัดแย้งกัน
ที่มา: Paul Andrews. 2023. Embedding Family Values into The Culture of a Family Business. Family Businesses United. https://www.familybusinessunited.com/post/embedding-family-values-into-the-culture-of-a-family-business. ข้อมูลเพิ่มเติม: htttp://www.famz.co.th