รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 กับกรณีอื้อฉาวของไทยในช่วงหลัง

31 ต.ค. 2567 | 00:30 น.

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 กับกรณีอื้อฉาวของไทยในช่วงหลัง โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ผลการประกาศ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปีนี้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้ที่ได้รับรางวัล ประกอบไปด้วยนักวิชาการชั้นนำของโลกชาวอเมริกัน 3 คน ได้แก่ ดารอน อาเซโมกลู ไซมอน จอห์นสัน และเจมส์ เอ. โรบินสัน

ทั้ง 3 ท่านได้รับรางวัลจากการศึกษามูลเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโต ตอบคำถามที่ว่าทำไมประเทศหนึ่งถึงมีความเจริญมากกว่าอีกที่หนึ่ง โดยผลการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือ “การพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบัน” ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยเชิงสถาบันนี้ มีข้อดีก็คือ เป็นปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต่างจากคำอธิบายจากงานวิจัยอื่นๆ ที่เสนอว่าปัจจัยที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาจากการที่ประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดี (ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์) หรือ มาจากการมีวัฒนธรรมความเชื่อที่เด่น (ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม) ซึ่งเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า

ปัจจัยเชิงสถาบันที่สำคัญ และอาจจะเป็นส่วนที่สำคัญจะเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย สนับสนุนการกระจายผลประโยชน์และอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับประชาชนในวงกว้าง และพยายามสกัดระบบการเมืองที่หาผลประโยชน์อันมิชอบโดยรวบอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไว้กับกลุ่มชนชั้นนำเพียงเท่านั้น (extractive institutions)

มุมมองผู้เขียนต้องการต่อยอดแนวความคิดปัจจัยเชิงสถาบัน

โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสถาบันที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยหากพิจารณากรณีอื้อฉาวของไทยในช่วงหลัง ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้เขียนมีความรู้สึกว่าเริ่มพบว่าประชาชนจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่มีความรู้และความชำนาญทางด้านระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทำให้กลุ่มคนผู้นี้ทราบถึงช่องว่าง

ช่องโหว่ของระบบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมจนทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองได้โดยที่กฎหมายไม่อาจจะเอาผิดได้อย่างเต็มที่ หรือทราบถึงช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมจนทำให้ความรับผิดที่เกิดขึ้นอาจจะน้อยกว่าผลได้จากการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างกรณีศึกษา

ที่เริ่มเห็นมากขึ้นแล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น การอ้างช่องว่างทางกฎหมายในเรื่องของการลงทุน โดยการยกประโยคคลาสสิกที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง...” หรือการกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่คำแนะนำทางด้านการลงทุน” ทำให้ความถูกต้องของสาระสำคัญในคำแนะนำจะตกเป็นภาระของผู้รับสารที่จะต้องไปพิจารณาเอาเอง กลายเป็นว่าผู้ให้ข้อมูลไม่ต้องมีภาระในการตรวจสอบใดๆ

เช่นเดียวกัน ผู้ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือ PR ของบริษัทในยุคหลังได้มีการนำเอาผู้มีชื่อเสียงพวกดารานักแสดงเข้ามาร่วมงานด้วย จนทำให้เกิดความเสี่ยงว่าการซื้อสินค้าและบริการจะมาจากความต้องการสินค้าและบริการจริงๆ หรือต้องการตามเทรนด์ในสังคม หรือแม้แต่อาจจะมีความเข้าใจผิดไปว่าสินค้าและบริการดังกล่าวอาจจะดีมากเพราะผู้มีชื่อเสียงยังเลือกใช้เลย

เมื่องาน PR ที่ไปไกลกว่าแบบยุคเดิมจนกลายเป็นจุดที่เกิดการขยายการใช้สินค้าและบริการให้ขยายไปในวงกว้าง แต่ผู้รับงานก็มักจะอ้างว่าได้รับค่าจ้างในลักษณะของการประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว กลายเป็นว่าผู้ที่เป็นต้นเหตุของการใช้สินค้าและบริการในวงกว้างกลับไม่ต้องมีภาระทางกฎหมายในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและบริการเสียก่อน

หันมาดูในฝั่งของกระบวนการยุติธรรม ผู้เขียนเห็นว่าการโทษรับผิดของผู้ก่อเหตุอาจจะไม่สมเหตุผลเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กๆ เช่น การทำร้ายร่างกายแล้วยอมจ่ายค่าปรับ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น คดีฉ้อโกงเป็นหลักร้อยล้านพันล้านที่ไม่สามารถยึดเงินมาคืนแก่ผู้เสียหายได้ ทำให้ผู้กระทำความผิดยอมติดคุกไม่นานก็ออกมาเสวยสุขกับเงินที่โกงกันมา หรือแม้แต่ในคดีที่ผู้เสียหายชนะคดีในศาลแล้วแต่กลับไม่สามารถบังคับคดีให้ผู้ที่กระทำความผิดชดใช้เงินได้

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงสถาบันที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนมองว่ามีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาในเชิงสถาบันอื่นๆ คือ การเป็นสังคมที่ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนตาดำๆ จากผู้ที่แสวงหาช่องทางอันมิชอบมาเอารัดเอาเปรียบได้ ซึ่งแม้ว่าการกระทำในแต่ละกรณีอาจจะมีความเสียหายไม่มากนักต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก แต่การปกป้องคุ้มครองสิทธิในเรื่องพื้นฐานนี้ กลับเป็นรากฐานอันสำคัญที่สะท้อนว่าสังคมนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างมีคุณธรรม ไม่ใช่ความสำเร็จบนการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย หรือจากผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน

เมื่อปิดช่องว่างในการเติบโตที่ไร้ซึ่งคุณธรรมออกไป ทางเลือกที่เหลือหากประชาชนอยากจะประสบความสำเร็จจึงเป็นการแข่งขันกันเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันกันได้ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ต่อไป