KEY
POINTS
เริ่มมีคำถามและคาดการณ์กันมากขึ้นว่า รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอยู่จนครบวาระหรือไม่ ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจ และประเด็นทางการเมือง ที่รุมเร้ารัฐบาล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ไปสำรวจความคิดประชาชน ในหัวข้อเรื่อง "รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม" ระหว่างวันที่ 21-22 ต.ค. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,310 คน และเผยแพร่ผลสำรวจออกมา เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2567
รัฐบาลอยู่ครบเทอมมั้ย?
เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อการอยู่รอดของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 41.68 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอม ในปี 2570 ร้อยละ 19.08 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568)
ร้อยละ 11.99 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 ร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ปัจจัยรัฐบาลไปต่อไม่ได้
ที่น่าสนใจ เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ พบว่า ร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง ร้อยละ 32.52 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.47 ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาด ของนายกฯ แพทองธาร จนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤติ ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 19.77 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ไปต่อไม่ได้ ร้อยละ 10.92 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง
ร้อยละ 9.62 ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 9.08 ระบุว่าการทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล ร้อยละ 8.24 ระบุว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีประเด็นอ่อนไหวร้อยละ 8.09 ระบุว่า ประเด็นคดีตากใบ ร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล
ศก.-การเมืองชี้ชะตารัฐบาล
ผลโพลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 41.68 ยังเชื่อว่า “รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม” แต่ก็ยังมีอีกส่วนที่เชื่อว่า “รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม” รวมกันๆ แล้วมีกว่าร้อยละ 50
ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นปัจจัยตัวชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล คือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญา และ คาดหวังของประชาชน บวกกับ มีกลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยัง ทักษิณ ชินวัตร แพทองธาร ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า “รัฐบาลแพทองธาร” จะอยู่จนครบวาระได้หรือไม่?
เมินผลโพลรัฐบาลไม่ครบเทอม
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลสำรวจประชาชนของนิด้าโพลที่ยังมีประชาชนอีกกว่า 57% บอกว่ารัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบเทอม ในฐานะผู้อาวุโสทางการเมือง ประเมินว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ว่า ตนว่าไม่น่าจะไปสนใจอะไรประเด็นนี้
"บางครั้งเวลาเลือกตั้ง โพล 85% ก็ยังไม่ใช่ สุดท้ายก็แพ้ เอาแน่เอานอนบางเรื่องบางราวไม่ได้ แต่เอาเป็นข้อมูลให้ไว้วิพากษ์วิจารณ์กัน เป็นความสนุกสนานเป็นอาหาร ส่วนจะมีปัจจัยอะไรนั้น มองว่าเรื่องนี้ยังไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะว่ายังอีกนาน ยังไม่มีอะไร"
ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องคำร้องของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร ใครมีอะไรที่สามารถแสดงออกในสังคม มีโอกาสแสดงออกผ่านโทรทัศน์ พวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องต่างๆ ตรงนี้
ส่วนปัญหาที่พรรคร่วมรัฐบาลมักขวางนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ ตอบว่า ตอนเลือกตั้งก็อยากจะให้ประชาชนเลือกพรรคของเราให้ได้มากกว่า 50% ของจำนวน สส. เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัว เราก็เตรียมพร้อมว่าหากมีการเลือกตั้ง เมื่อมีพรรคร่วมก็จะเป็นเช่นนี้ เหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง แต่สุดท้าย ก็ต้องจบไปในทิศทางเดียวกัน
“เป็นมาทุกยุคทุกสมัย อย่าไปตกใจว่าเป็นอะไรที่พิเศษ เป็นธรรมดา ก็จะทำให้การเมืองคล่องตัวขึ้น เพราะรู้ว่าเหนือใต้ออกตกมีอะไร แต่หากเป็นพรรคเดียวมากกว่า 50% ก็ไม่ต้องระมัดระวังอะไร เป็นความสามารถที่จะต้องปรับให้ทันกับเกมการเมืองต่างๆ” นายสมศักดิ์ ระบุ
“การเมือง”ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล
สำหรับปัจจัยทางการเมืองที่อาจทำให้ “รัฐบาลแพทองธาร” ไปต่อ “ได้-ไม่ได้” มีอยู่ 2 สถานการณ์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
สถานการณ์แรก เป็นกรณีที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณากรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ พรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ
ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1
ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
ประเด็นที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลฯ ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในชั้นนี้ ให้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลฯภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ (ครบประมาณ 6-7 พ.ย. 67)
อีกสถานการณ์ เป็นกรณีที่ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่มีผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม
จากเหตุ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล
โดยให้คณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ ก่อนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็น และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ กกต. 7 คน เพื่อพิจารณาว่า จะมีมติเสนอให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมหรือไม่
กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม, น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง
ทั้งนี้ หากการสอบสวนพบว่า เป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้ นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอต่อ กกต. ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้
สำหรับ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคประชาชาติ
ทั้ง 2 สถานการณ์เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของ แพทองธาร ชินวัตร และ รัฐบาลเพื่อไทย ...ถ้าสามารถ “ผ่าน” ไปได้ รัฐบาลก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรเรื่องการอยู่ครบเทอม แต่ถ้า “ไม่รอด” ก็จบเกม...