วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงของไทย เมื่อรถบัสทัศนศึกษาคันใหญ่ จากจังหวัดอุทัยธานี เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า หน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 23 รายสร้างบาดแผลร้าวลึกให้กับผู้ปกครอง และสะเทือนใจให้คนทั้งประเทศ
สื่อต่างชาตินำเสนอข่าว “ถนนไทยอันตรายติดอันดับโลก” สร้างความหวาดผวาให้กับคนใช้โดยโดยสารสาธารณะโดยเพราะ “รถใช้แก๊ส” ที่วิ่งกันมีเกลื่อนเมือง ท่ามกลางประเทศไทยให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน
โศกนาฎกรรม หมู่โดยรถโดยสารสาธารณะ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และทุกครั้งที่เกิดเรื่อง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ “วัวหายล้อมคอก” จ่ายค่าสินไหมทดแทน แล้วก็ลืมเลือนกันไป เพราะคนไทยมีนิสัยลืมง่าย เมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งใหม่ก็ตื่นตัวกันอีกครั้ง หามาตรการควบคุม แบบซํ้าๆ วนลูป
ที่แก้ยาก เกิดจาก “คน” ทั้ง “ประมาทและผลประโยชน์” นำมาซึ่งความหายนะของประเทศครั้งใหญ่ที่ประเมินค่ามิได้ และเชื่อว่าการแก้ปัญหาต่อบทเรียนครั้งนี้ จะเหมือนเฉกเช่นทุกครั้งคือแก้ไม่ได้!
อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ และกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้ยกเลิกออกไป เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ซึ่งเรื่องนี้ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี มองว่า “ทัศนศึกษา” ไม่ได้ทำร้ายเด็ก และไม่ต้องการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยมอบกระทรวงคมนาคมวางกรอบแนวทางให้ชัด ไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซํ้าซากขึ้นอีก
สอดคล้องกับสภาผู้แทนราษฎร์ที่เห็นตรงกันครั้งแรก ต้องการสนับสนุน “ทัศนศึกษา” เปิดโลก ใบใหม่ให้กับเด็กๆ ต่อไป แต่ที่ต้องจัดการคือ แก้ทุจริต ที่กัดกร่อนทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศต่อสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะมาตรการเร่งด่วน ที่กระทรวงคมนาคมออกมาให้กรมการขนส่งทางบกเร่งแก้ไข
1. ให้กรมขนส่งตรวจสอบสภาพรถประเภท NGV โดยใช้ถังแก๊ส CNG ทั้งหมด จำนวน 13,426 คัน หากพบว่ารถดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจสภาพจะถูกยึดใบอนุญาตรถทันที
2.ให้กรมขนส่งออกกฎระเบียบของรถไม่ประจำทางประเภท 30 โดยกำหนดให้มีพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง ซึ่งต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร
3.ให้กรมขนส่งสั่งการไปยังกรมขนส่งจังหวัดทำหนังสือถึงสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ กรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางทัศนศึกษาตามหลักสูตร ต้องดำเนินการประสานความร่วมมือกับกรมขนส่งฯจังหวัด ในการตรวจสภาพรถ
4.สั่งการให้กรมขนส่ง ศึกษากฎหมายเก่าเกี่ยวกับการจราจร เช่น การทบทวนอายุการใช้งานรถก่อนออกเดินทาง ฯลฯ โดยกำหนดให้รถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 มีการสาธิตวิธีการและแนะนำการเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุบนรถโดยสาร
5.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30
อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ต้องเร่งกำจัดและแก้ไขอย่างจริงจังคือ “เหลือบ” กัดกิน ความปลอดภัยบนท้องถนน ที่กระทรวงคมนาคมต้องเข้าไปสะสางกวาดล้างโดยด่วน แม้จะยากยิ่งก็ตาม!!!
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567