อย่าปล่อยให้ “บาทแข็ง-ค่าแรง-ดอกเบี้ยสูง” ฉุดขีดแข่งขันไทยทรุดยาว

25 ก.ย. 2567 | 04:29 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 04:41 น.

กันยายน เดือนสุดท้ายของปีงบ 2567 กำลังจะผ่านพ้นไป ปีงบประมาณใหม่ 2568 กำลังจะเข้ามาแทนที่ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ไม่ถึงเดือน ต้องเผชิญสารพัดปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ปัญหาเฉพาะหน้าได้แก่ การเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เร่งช่วยเหลือประชาชน และเร่งจ่ายชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบครั้งรุนแรงในรอบหลายสิบปี

ขณะที่ภาคธุรกิจ/โรงงานถูกสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานรุมถล่มตลาด กดการใช้กำลังผลิตยังต่ำ บางรายแข่งไม่ไหวต้องปิดโรงงาน ที่เหลือยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูงจาก ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ดอกเบี้ย และที่กำลังจ่อเตรียมปรับขึ้นคือค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศ นำร่องในกิจการ/โรงงานไซซ์ L ที่มีคนงาน/พนักงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีเป้าหมายจะปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 แต่ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีได้ล่มมาแล้ว 2 ครั้งจากองค์ประชุมไม่ครบ

ส่วนนัดหมายการประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 24 ก.ย.67 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากคณะกรรมการไตรภาคี 15 คน ไม่สามารถครบองค์ประชุม จากที่นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขาดคุณสมบัติ เพราะเกษียณอายุงานมาตั้งแต่ปี 2566 ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายรัฐบาลได้ และการที่จะให้ทาง ธปท. แต่งตั้งกรรมการฝ่ายรัฐบาล คาดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน

อย่าปล่อยให้ “บาทแข็ง-ค่าแรง-ดอกเบี้ยสูง” ฉุดขีดแข่งขันไทยทรุดยาว

ขณะที่นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ก็จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ และคงต้องให้เป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ทำหน้าเป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้างต่อ ดังนั้นโดยสรุปการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ทันในวันที่ 1 ต.ค. 2567 อย่างแน่นอน

อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่เป็นความหวังในการนำรายได้เข้าประเทศก้อนโต ต้องเผชิญกับเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากต้นปีอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด(24 ก.ย. 67) แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 32 บาทปลาย ๆต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 1% ต่อปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุจะกระทบรายได้ส่งออกไทยหายไปเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่ น้ำตาล ผลไม้ และอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะถูกกดราคารับซื้อ จากโรงงานแปรรูปส่งออกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือมีกำไรที่ลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเวลานี้ ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ ได้ลดลงจากเดิมถึง 1,000-2,000 บาทต่อตัน สินค้าไก่ส่งออกรายได้หายไปเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท

ส่วนภาคท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แลกเงินบาทได้ลดลง และจะลดการจับจ่าย จากรู้สึกว่าสินค้าและบริการของไทยแพงขึ้นตามค่าเงิน อาจส่งผลเลือกไปท่องเที่ยวประเทศอื่นที่ค่าเงินอ่อนกว่า และมีความคุ้มค่ามากกว่า

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี มีแรงกดดันหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ซึ่งต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยในปลายปีนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามหรือไม่

นักวิชาการประเมินว่าหาก กนง.ไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จะส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยอาจจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในอัตราดังกล่าวจะมีผลให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 3.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยกลับมามีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ 3 เรื่องใหญ่ทั้งเงินบาทแข็งค่า ดอกเบี้ยไทยที่ยังสูง ขณะที่รัฐบาลมีความพยายามจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้ ทั้ง 3 เรื่อง หากไม่ได้รับการกำกับดูแลที่เหมาะสม จะฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป