พัฒนาการเด็ก โครงสร้างครัวเรือน และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย

20 ก.ย. 2566 | 03:00 น.

พัฒนาการเด็ก โครงสร้างครัวเรือน และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... รศ.ดร.กรรณิการ์ ดำรงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3924

ปัจจุบันภาพที่เราเห็นกันค่อนข้างคุ้นตา คือ ภาพครอบครัวซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย คุณพ่อคุณแม่ คุณลูก คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ที่ออกมาทานข้าวนอกบ้านด้วยกัน โดยที่แต่ละคนต่างก็มีเครื่องมือสื่อสาร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง และต่างคนก็ต่างจดจ่ออยู่กับหน้าจอของตน จนทำให้ไม่ได้พูดคุยกัน หรือ มีปฎิสัมพันธ์กันเหมือนในอดีต 

จากภาพที่เห็นบ่อยๆ นี้ทำให้ตัวดิฉันเองซึ่งก็มีลูกเล็ก และผู้ร่วมวิจัยมีความสนใจที่จะทำการศึกษาว่า การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็กและโครงสร้างครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่นั้น ส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นงานวิจัยที่จะนำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ค่ะ

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็กนั้น มีความสำคัญและได้รับความสนใจทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติ เพราะจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นโดย Professor James Heckman ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล พบว่า การลงทุนในช่วงปฐมวัย คือ ในเด็กอายุ 0-5 ปี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด 

กล่าวคือ การที่เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในระดับปฐมวัย จะส่งผลโดยตรงต่อการที่เด็กเหล่านั้น จะประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับต่อๆ ไป และส่งผลเชิงบวกทั้งทางด้านสุขภาพ อาชีพการงาน รายได้ และ ทางด้านพฤติกรรมต่างๆ ในอนาคต 

สำหรับมุมมองของประเทศเด็กเหล่านี้ ก็จะเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถเป็นแรงงานสำคัญที่ช่วยสร้างผลผลิตและสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในด้านต่างๆ ได้ด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรืออาชญากรรมก็จะลดลงตามไปด้วย เป็นต้น

ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจสำหรับใช้เป็น กรณีศึกษาในแง่ของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเด็ก โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมาประเทศต่างๆทั่ วโลก ทำการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด โรงเรียนต่างก็ปิดทำการ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยปริยาย 

ในทวีปเอเชียเองสำหรับเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าสัดส่วนของเด็กที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 100%, 96%, 83%, 70% และ 22% ใน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไทย และ อินโดนีเซีย ตามลำดับ

และ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.69% ในปี 2000 และเพิ่มมาเป็น 78% ในปี 2020 

สำหรับประเด็นโครงสร้างครัวเรือนประเภทต่างๆ ที่เด็กอาศัยอยู่ พบว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงเรื่อยๆ ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันอัตราการหย่าร้างก็สูงขึ้นเช่นกัน 

ด้วยปัจจัยต่างๆ นี้ ทำให้รูปแบบครัวเรือนในสังคมไทยเปลี่ยนไป จากรายงานของ United Nations Population Funds (UNFPA)  พบว่าเมื่อเปรียบเทียบปี 1987 กับ 2013 ครอบครัวเดี่ยวไร้บุตรเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 16% ครอบครัวแหว่งกลาง (skipped generation family) เพิ่มขึ้นจาก 1 แสน เป็น 4 แสนครัวเรือน ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (single parent family) เพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.4 ล้านครัวเรือน โดยส่วนใหญ่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีความยากจน และไม่มีระบบสนับสนุนที่เพียงพอเพื่อช่วยในการเลี้ยงบุตร

                                 พัฒนาการเด็ก โครงสร้างครัวเรือน และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย

จากข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้ว ท่านผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพว่า ทำไมเราถึงสนใจศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการเด็ก การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็ก และโครงสร้างครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่ในบริบทของประเทศไทยในงานวิจัยชิ้นนี้ 

ทางผู้วิจัยใช้ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicator Cluster Survey) ปี 2015 ซึ่งถูกจัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การ UNICEF ร่วมกัน และเป็นข้อมูลตัวแทนระดับประเทศในการศึกษานี้ 

หลังจากทำการจัดการข้อมูลแล้ว เรามีกลุ่มตัวอย่างของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนเกือบ 4,800 คน ซึ่งแบ่งเป็นเด็กที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบ 3,500 คน และเด็กที่ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 1300 คน 

สำหรับพัฒนาการเด็กที่เราสนใจศึกษาประกอบไปด้วยสองส่วนด้วยกันคือ พัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development)  เช่น การที่เด็กรู้จักตัวอักษร, รู้จักคำศัพท์, รู้จักตัวเลข, การที่เด็กสามารถหยิบของเล็กๆ ขึ้นจากพื้นได้ด้วย 2 นิ้ว

การที่เด็กสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้, ความสามารถของเด็กในการทำอะไรได้ด้วยตนเอง และ พัฒนาการทางพฤติกรรม (non-cognitive development) ซึ่งประกอบไปด้วย การที่เด็กสามารถเข้ากับเด็กคนอื่นได้, การที่เด็กไม่กัด เตะ หรือ ทุบตีเด็กคนอื่น, การที่เด็กสามารถสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน

เราทำการประมาณการแบบจำลองทางสถิติ ซึ่งทำการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่เด็กอาศัยอยู่ และ ลักษณะต่างๆ ของเด็ก ผลการศึกษาพบว่า การที่เด็กใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่สมวัยเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่ทำให้พัฒนาการทางพฤติกรรมที่สมวัยลดลงประมาณ 6%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด กล่าวคือ สำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนประเภทนี้ ถ้ามีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย จะส่งผลให้พัฒนาการทางพฤติกรรมที่สมวัยลดลงอีกประมาณ 6% เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวประเภทอื่นๆ

งานวิจัยยังพบอีกว่า พัฒนาการทั้งทางสติปัญญา และทางพฤติกรรมของเด็กในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยนั้น ค่อนข้างด้อยกว่าเด็กในกรุงเทพฯ อย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษานี้นำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิเช่น ผู้ดูแลเด็กควรจะได้รับการให้ความรู้และคำแนะนำว่า เด็กๆ ควรจะดู หรือ เล่นโปรแกรมประเภทใด เช่น โปรแกรมที่เน้นการเรียนรู้เป็นหลัก และเด็กในแต่ละช่วงวัยควรใช้เวลาหน้าจอนานเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่พัฒนาการทางสติปัญญา และป้องกันไม่ให้พัฒนาการทางพฤติกรรมของเด็กแย่ลง  

สำหรับครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ควรได้รับความสนใจเป็นลำดับแรกในการให้ความรู้นี้ เพราะพบว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด นอกจากนั้นแล้ว ควรมีการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมไปยังภูมิภาคต่างๆเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็กให้เหมาะสม และทั่วถึงในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ