*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,925 ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ย. 2566 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” มีนโยบายหลายอย่างที่เป็น “ประชานิยม” โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนทั้ง เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท พักหนี้เกษตรกร-เอสเอ็มอี และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ปริญญาตรี ซึ่งต้องบริหารจัดการเรื่องงบประมาณมาสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ดังกล่าว ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570 มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท รายได้นำส่งคลังรวม 11,745,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง มีแผนกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลรวม 2,857,000 ล้านบาท
*** ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางฉบับใหม่ รัฐบาลต้องการเงินกู้ช่วง 4 ปี (ปีงบประมาณ 67-70) วงเงินรวม 3.61 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 7.54 แสนล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท หากนับเฉพาะแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง โดยไม่นับรวมวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล พบว่า ช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินรวม 754,004 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 กู้เงิน 261,757 ล้านบาท, ปี 2568 กู้เงิน 245,168 ล้านบาท, ปี 2569 กู้เงิน 160,892 ล้านบาทและ ปี 2570 กู้เงิน 86,187 ล้านบาท
*** ขณะที่ “หนี้สาธารณะ” คงค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปี 2566 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 11,254,544 ล้านบาท คิดเป็น 62.97% ต่อจีดีพี โดยมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนที่ 170,377 บาท และเมื่อถึงปี 2570 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 14,363,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,108,660 ล้านบาทจากปี 2566 โดยสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 64.81% ต่อจีดีพี และมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 217,437 บาท เพิ่มขึ้น 47,060 บาทจากปี 2566
*** เมื่อพิจารณาภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามม. 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พบข้อมูลว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มียอดคงค้าง 1,039,920 ล้านบาท (เป็นยอดคงค้างที่ถูกนับรวมในหนี้สาธารณะด้วย 206,048 ล้านบาท) คิดเป็น 33.55% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 อยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระคืน จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็น 3.28% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้น ในปีงบ 2566 จะเหลือภาระผูกพัน จำนวน 935,448 ล้านบาท ถ้ากำหนดสัดส่วนภาระผูกพันไว้ที่ 35% จะมีเงินเหลือในปีงบ 2567 จำนวน 282,552 ล้านบาท หากจะนำมาใช้แจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ต้องขยายเพดานเป็น 45%
*** ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่า การขับเคลื่อนแผนการคลังระยะปานกลางอาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งหลังปี 2567 เพราะรัฐบาลต้องบริหารแนวนโยบายที่ประกาศไว้กับประชาชน ซึ่งแต่ละพรรคคิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่รายได้อาจจะกลับมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมยังเป็นนามธรรม
ดังนั้น หากรัฐบาลเริ่มแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท น่าจะทำให้สัดส่วนจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกราว 2% เพื่อให้จีดีพีขยายตัวที่ 5% ซึ่งจีดีพีเพิ่ม 2% หรือประมาณกว่า 3.6 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลยังขาดเงินที่จะต้องมาโปะหรือต้องก่อหนี้อีกกว่า 2 แสนล้านบาท หากไม่สามารถไปตัดค่าใช้จ่ายจากนโยบายของพรรคร่วมได้ ตัวเลขขาดดุลที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 4% ของจีดีพีได้
ประเด็นคือ จีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้ 5% ที่ตั้งเป้าหรือไม่ สามารถตัดงบประมาณรายจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และหากทำไม่ได้โอกาสที่จะขาดดุลงบประมาณจะสูงกว่าแผนการคลังระยะปานกลางที่ออกมา และอาจจะเกิดประเด็นที่คาดไม่ถึงได้ในระยะต่อไป
*** นโยบายดีดีที่ประชาชนชื่นชอบ หรือ “ประชานิยม” การหาเงินมาโปะเพื่อดำเนินโครงการ หากภาษีที่จัดเก็บได้ไม่เพียงพอ รัฐก็ต้องกู้เงินมาดำเนินการ ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วย “หนี้” ที่คนไทยต้องแบกรับซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
*** ปิดท้ายกันที่ ... Sasin School of Management เปิดตัวหลักสูตรระยะสั้น 12 ชั่วโมง “Demystified Series” ไขเคล็ดลับหัวข้อยอดฮิตเพิ่มศักยภาพผู้เรียน นำไปใช้ได้ทันที ตัวอย่างเช่น คอร์ส “Stock Market Investing Demystified” สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการสร้างความมั่งคั่งและการลงทุนในตลาดหุ้น คอร์ส“Company Valuation Demystified” เรียนรู้ปัจจัยและกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร คอร์ส “Critical Thinking Demystified” พัฒนาทักษะ “Critical thinking” การคิดวิเคราะห์อย่างวิจารญาณเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรเป็นต้น ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sasin.edu/your-personal-development-be-demystified หรือติดต่อที่อีเมล์ [email protected] สอบถามโทร 02- 218-4000 ต่อ 7