*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,953 ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 2566 – 3 ม.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ลาที “ปีกระต่าย” ต้อนรับปีใหม่ 2567 “ปีมะโรง” หรือ งูใหญ่ หรือ มังกร เริ่มศักราชใหม่ก็ขออวยพรให้แฟนๆ “ฐานเศรษฐกิจ” มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง มั่งคั่ง มีความสุข คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา สำหรับท่านที่ทำธุรกิจ ทำมาค้าขาย ก็ขอให้กิจการเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ตลอดปี 2567 นี้ เป็นปี “งูทอง” สำหรับทุกคนด้วยเทอญ...
*** สำหรับใครที่รอคอยความหวังจาก “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ซึ่งเป็นนโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งในปี 2566 และเมื่อได้มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ คนที่ 30 ก็พยายามที่จะผลักดันนโยบายแจกเงินดังกล่าว สำหรับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านคน โดยรัฐบาลก็คิดที่จะออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” เพื่อนำเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท มาแจก แต่ก็ติดเงื่อนไขว่าจะสามารถออกเป็น “พ.ร.บ.กู้เงิน” ได้หรือไม่ ดังนั้น จึงต้องส่งเรื่องไปถาม “คณะกรรมการกฤษฎีกา" ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เดินหน้าได้หรือไม่ ขัดกฎหมายอะไรหรือไม่
*** จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาให้ข้อมูล เมื่อวันที่ 20 ธ
ค. 2566 ว่า จากการสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังส่งคำถามไป เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2 สัปดาห์ และจะส่งหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบภายในเดือน ม.ค.2567 หากคำตอบกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า “เดินหน้าได้” กระทรวงจะเร่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามกรอบเวลาไม่เกิน พ.ค. 2567 แน่นอน
*** ขณะที่ "หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ว่า รัฐบาลยังยืนยันการผลักดันโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังคงเดินหน้าไปตามแผนทั้งหมด ที่ผ่านมาได้มีข้อสงสัยและข้อถกเถียงถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลก็ได้ทำให้ข้อถกเถียงต่าง ๆ เกิดความชัดเจนไปแล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรำไปปฏิบัติให้เป็นจริง ล่าสุดรัฐบาลได้ทำหนังสือสอบถามรายละเอียดข้อกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ จะได้รับคำตอบกลับมา จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตามขั้นตอน
เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอไปตาม หลังร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปะจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ต่อไป พร้อมกับย้ำว่า รัฐบาลได้ศึกษาดูในข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งหนทางไม่ได้ราบเรียบตลอด เหมือนสมัยการทำกองทุนหมู่บ้าน พูดถึงการหางบแต่พอทำก็ไม่มีเงินเหมือนกัน จึงต้องใช้วิธีกู้เงิน
*** แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าได้ศึกษาข้อกฎหมายมาอย่างดีแล้ว แต่การกู้ เงิน ซึ่งเป็นการ “ก่อหนี้สาธารณะ” ก็ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลจากทั้ง นักเศรษฐศาสตร์ และ นักกฎหมาย ที่ต่างพากันมองว่า เหตุผล และ ความจำเป็นของโครงการนี้เพียงพอที่จะมี “น้ำหนัก” สำหรับการก่อหนี้สาธารณะหรือไม่ อีกทั้งสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐ มีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”
*** ทั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สิน หรือ ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย” และมาตรา 9 วรรคสาม บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
*** โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “รัฐบาลเศรษฐา” จะผลักให้ไปต่อได้หรือไม่ได้ เบื้องแรก “คณะกรรมการกฤษฎีกา” จะเป็นผู้ให้คำตอบว่า จะสามารถออกเป็น “พ.ร.บ.กู้เงิน” ได้หรือไม่ได้ สมมติกฤษฏีกาบอกว่า “ทำได้” ก็ต้องส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในชั้น “สภาผู้แทนราษฎร” หรือ “วุฒิสภา” แต่ด่านต่อไปที่จะต้อง “ลุ้นหนัก” หน่อยก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพราะเชื่อว่าจะมีคนส่งให้ศาลวินิจฉัยแน่นอน ...เอาเป็นว่า ภายในปี 2567 นี้ รู้ผลแน่นอนว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีโอกาสไปเข้า “กระเป๋า” 50 ล้านคน ที่รอคอยหรือไม่...