ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“เศรษฐา”จุดเปลี่ยนการเมืองไทย?

11 มิ.ย. 2567 | 23:09 น.

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“เศรษฐา”จุดเปลี่ยนการเมืองไทย? : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4000 ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย. 2567

คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4000 ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย 

*** สถานการณ์บ้านเมืองของไทยยามนี้ น่าจับตาไปที่คดีกลุ่ม 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นให้ถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่ง “นายกฯ คนที่ 30” จากกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ แม้ “เจ้าตัว” จะลาออกจากรมต.ไปแล้ว แต่คดีในส่วนของนายกฯ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ยังรับไว้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายกฯ เศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2667 เศรษฐา ทวีสิน ออกมาเผยว่า ได้ส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่  7 มิ.ย. 2567 “แต่ขออย่าถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะผมกังวลตลอดเวลา ตอนนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ขอให้อยู่ในขั้นตอนของศาลก็แล้วกัน ผมยังไม่ขอเปิดเผยแนวทางการต่อสู้ และขอใช้คำว่าชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าบอกไป หากฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการมีคำถาม เราเป็นฝ่ายบริหารก็ต้องชี้แจงไป เราก็ต้องให้ความเคารพ หากขาดข้อมูลอะไรท่านก็เรียกมา” 

*** เมื่อคำชี้แจงของ “นายกฯ” ถึงมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว น่าจับตาในวันพุธที่ 12 มิ.ย.นี้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีการประชุมกันทุกวันพุธ จะนำเรื่อง “ถอนถอนนายกฯ” เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมหรือไม่ ถ้ามีการหารือ ต้องรอดูว่าศาลจะวางไทม์ไลน์การพิจารณาคดีนี้อย่างไรต่อไป หรือ อาจจะนัดวันอภิปราย เพื่อนำไปสู่การลงมติเลยหรือไม่ ในวันไหน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าศาลอาจจะใช้เวลาอีก “ไม่เกิน 2 สัปดาห์” คือไม่ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก็ต้นเดือน ก.ค.นี้ ก็น่าจะรู้อนาคตของ เศรษฐา ทวีสิน ในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ว่าจะ “ได้ไปต่อ” หรือ “จบลงเพียงเท่านี้”                               

*** ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ออกมาวิเคราห์ว่า ตัวชี้วัด หรือ “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญนั้นอยู่ที่คดีของนายเศรษฐา ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้าออกมาในลักษณะที่ นายเศรษฐา “ได้ไปต่อ” เรื่องนี้ก็จะบรรเทาเบาบางสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้กับรัฐบาลพอสมควร แต่ถ้าออกมาในลักษณะ “ไม่ได้ไปต่อ” สิ่งที่จะเกิดผลกระทบอันแรก คือ คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับนายกฯ ด้วย จะนำมาสู่การเลือกนายกฯ ใหม่ ซึ่งแคนดิเดตที่มีอยู่ในวันนี้มีเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น ถ้าไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้นเสียก่อน

“เมื่อแคนดิเดตนายกฯ เหลือเพียงไม่กี่ท่าน โอกาสจะเกิดการสลับขั้ว ย้ายขั้ว ข้ามขั้ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมด และอาจนำไปสู่ผลกระทบเสถียรภาพทางการเมืองก็ได้ ซึ่งตัวชี้วัดแรกจะต้องดูในคดีของนายเศรษฐา ว่าจะชี้ทิศทางเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีของนายทักษิณ ชินวัตร (ม.112) หรือการวิพากษ์วิจารณ์โยบายต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ได้เป็นประเด็นหลักส่งผลในระยะสั้นมากนัก” อาจารย์ยุทธพร ระบุ

*** จากเรื่อง “ถอดถอนนายกฯ” ไปดูเรื่องการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ “เลือก สว.” ที่ได้เริ่มคัดเลือกใน “ระดับอำเภอ” กันไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ยังเหลืออีก 2 ระดับคือ “ระดับจังหวัด” ที่จะมีการเลือกกันวันอาทิตย์ที่ 16 มิ.ย. และ “ระดับประเทศ” เลือกวันพุธที่ 26 มิ.ย. ก่อนจะมีการประกาศผล สว. 200 คน ในวันที่ 2 ก.ค. 2567 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ศาลปกครองกลาง ส่งคำโต้แย้งของบรรดาผู้สมัคร สว. ไว้วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลฯภายใน 5 วัน ซึ่งทาง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ก็ได้ส่งคำชี้แจงให้ศาลแล้ว ...มารอลุ้นกันว่า กฎหมายดังกล่าวจะ “ขัดรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ ถ้า “ขัด” การเลือก สว. ที่เกิดขึ้น ก็อาจกลายเป็น “โมฆะ” ได้ คดีนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” น่าจะตัดสินได้เร็ว... 

                          ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา“เศรษฐา”จุดเปลี่ยนการเมืองไทย?