ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรากฎหมายเลือก สว. ขัดรธน.หรือไม่

05 มิ.ย. 2567 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 06:36 น.

ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรากฎหมายเลือก สว. ที่เกี่ยวกับการไม่ต้องเลือกตัวเองก็ได้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงใน15 วัน แต่ตีตกคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เหตุยังไม่ปรากฏจะเกิดความเสียหายร้ายแรง

วันนี้(5 มิ.ย.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของ น.ส.วิเตือน งามปลั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 899/2567

และ คำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 นำโดย นายฤทธิชัย ศรีเมือง  ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ผู้พัฒน์  ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี นายสิทธิชัย ผู้พัฒน์  ผู้สมัค รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี นายจำนอง บุญเลิศฟ้า ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี และ นายสากล พืชนุกูล  ผู้สมัครรับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 

ในคดีหมายเลขดำที่ 92/2567 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ 

โดยศาลฯ อภิปรายแล้วเห็นว่า เนื้อหาคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีเป็นกรณีโต้แย้งว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลปกครองกลางจะใช้บังคับแก่คดี 

เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 (นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งรับคำร้องทั้งสองไว้พิจารณาวินิจฉัย เฉพาะประเด็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่  

โดยรวมการพิจารณาทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง 

อีกทั้งหาก กกต. เห็นว่าจะเกิดความเสียหายดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 มาตราที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย

มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครจะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

ส่วนมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3)  และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่