วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรค แถลงข่าวการต่อสู้คดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเปิดข้อต่อสู้ 9 ข้อ ที่เน้นหนักไปในเรื่องที่ กกต. ยื่นร้องศาลฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดระเบียบของ กกต. ประกอบด้วย
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้
2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. คำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้
4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้างการปกครองฯ ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
5. การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค
6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค( กก.บห.)
8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับ กก.บห.ในช่วงที่ถูกกล่าวหา
นายพิธา อธิบายว่า หากนายทะเบียนพบว่า พรรคการเมืองกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องทำตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566 ข้อที่ 6 ต้องให้โอกาสผู้ถูกร้องทราบถึงข้อกล่าวหา และมีการเปิดเผยพยานหลักฐานในการชี้แจงก่อน ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้รับการปฏิบัติในกระบวนการนี้
รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 แต่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
นายพิธา กล่าวว่า คำพิพากษาในคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่กกต. ใช้เป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคครั้งนี้ ไม่มีความผูกพันกับการร้องในคดีล่าสุด เพราะตามทฤษฎีกฎหมายแล้ว หากคดีจะมีความผูกพัน จะต้องเป็นข้อหาในเดียวกัน เพราะต่างข้อหาก็ต่างวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
อีกทั้งระดับโทษต้องใกล้เคียงกัน ซึ่งยกตัวอย่างโทษของคดีเมื่อเดือนมกราคม คือการให้หยุดการกระทำหาเสียงด้วยการยกเลิก มาตรา 112 แต่ในคดีนี้มีโทษมากสุดถึงการยุบพรรค จึงมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล
นายพิธา ย้ำว่า การยุบพรรค เป็นกระบวนการที่มีได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มีความอดกลั้น และเป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็น เร่งด่วน และไม่มีวิธีอื่นในการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่ในคดีดังกล่าวนี้ เพราะ กกต.เอง ก็ยกคำร้องขอยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด
ทั้งในเรื่องนโยบายหาเสียงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ การเป็นนายประกันของผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 หรือมีผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
อีกทั้งเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ก็จะยังมีกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สามารถยับยั้งการกระทำดังกล่าวได้
นายพิธา กล่าวอย่างมั่นใจภายหลังการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า ทุกข้อจะมีส่วนช่วยในการสู้คดีที่ กกต. เป็นคนร้อง จะเปรียบเสมือนขั้นบันไดช่วยเหลือ ส.ส. 44 คน ที่ยืนยันว่าจะไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง
ทั้งนี้ กรรมการบริหารพรรคที่อาจถูกตัดสิทธิ์ หากมีคำพิพากษาให้ยุบพรรค มี 3 ชุด คือ ชุดแรก สมัยที่นายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค ชุดที่สองหลัง จากที่ นายพิธา ลาออกจากหัวหน้าพรรค และชุดที่สาม ที่มีสัดส่วนของกรรมการบริหารพรรคภาคเหนือเพิ่มเข้ามา ซึ่งรับตำแหน่งในเวลาเพียงไม่ถึง 6 เดือน ส่วนนี้ตนจึงมองว่า ควรมีสัดส่วนในการลงโทษที่เหมาะสม ไม่ควรลากยาวมาถึงกรรมการบริหารพรรคชุดนี้
ทั้งนี้การพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ตนเคารพในดุลพินิจของศาล ไม่ขอก้าวล่วง หากศาลเห็นด้วยว่าสองคดีต่างกัน ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ซึ่งพรรคก้าวไกล เตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้ไต่สวน มากกว่า 10 คน
“หากถูกยุบก็มีการตรียมตัวไว้ทุกสถานการณ์ แต่การเมืองจะเป็นอย่างไร จะคล้ายกับแฟลชม็อบ ตามที่ผู้สื่อข่าวถามหรือไม่นั้น ผมไม่กล้าคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิด แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปราะบางเช่นนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดผลอะไรทางการเมืองบ้าง แต่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงถึงขั้นนั้น”
พร้อมยืนยันว่า สมาชิกพรรคยังเหนียวแน่น เป็นเอกภาพ ปึกแผ่น และเชื่อว่า เป็นงูเห่า คือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% หลังมีกระแสข่าวว่าจะดึง สส.ไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง ซึ่งตนก็ไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขั้นที่จะไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้หูเบาที่จะเชื่อทุกอย่างไปหมด
นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผ่านมาไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกลที่พูดเรื่องนี้เท่านั้น ในหลายหลายเวทีดีเบตก่อนการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวหลายคนก็ได้ถามถึงแนวทางเรื่องนโยบายดังกล่าวนี้กับหลากหลายพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว