*** เศรษฐกิจใกล้เคียงวิกฤติจริงๆ นะ ฯพณฯ อย่าไปดูเฉพาะตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี ที่วัดรวม เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็มีโต 2.4% บ้าง 2.7% บ้าง ข้างรัฐบาลก็จะเอา 3% ฟังนักวิชาการ ฟังแบงก์ชาติ ฟังเอกชนแล้ว ต้องไปฟังคนเล็ก คนน้อยบ้าง แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สรุปเปรี้ยงเลย สถานการณ์ตอนนี้ “ปราะบาง เหลื่อมลํ้า บอบชํ้าจากโควิด โดนพิษเศรษฐกิจรุมเร้า ติดกับดักหนี้ยั่งยืน ขยี้ซํ้ารายได้ลด ซดต้นทุนเพิ่มรอบทิศ”แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า ไม่วิกฤติได้อย่างไร
*** ครั้นถ้าจะดูตัวเลขชี้วัด ก็ดูตรงนี้บ้าง ตอนนี้เอสเอ็มอีเผชิญรายได้ลด กำลังซื้อหด ความเชื่อมั่นติดลบ มีเอสเอ็มอีภาคการค้า 42% ภาคบริการ 40% พวกเขาต้องเผชิญ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การรุกคืบของธุรกิจต่างชาติที่มีการแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เอสเอ็มอี 52% เผชิญรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และ 92% ขาดสภาพคล่องและทุนหมุนเวียน ต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตปรับราคาสูงขึ้น
ในภาคย่อยลงไป ให้ไปดูหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ย สินเชื่อที่อยู่อาศัย 34% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเผชิญการถูกยึดเพิ่ม สินเชื่อยานยนต์ 11% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดถูกยึดสูงขึ้น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 8% เผชิญหนี้เสียที่มีการขยายตัวมากขึ้น
สินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ยสูงและมีสัดส่วนต่อหนี้ครัวเรือนกว่า 19% ของหนี้ครัวเรือน สินเชื่อธุรกิจ 18% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเข้าถึงยากขึ้น อยู่ในวิกฤติหนี้สิน เฉพาะเอสเอ็มอี 36% พึ่งพาหนี้นอกระบบ รวมทั้งเอสเอ็มอี 46% เผชิญอัตราดอกเบี้ยสูง เข้าไม่ถึงแหล่งทุน แล้วจะไปแข่งขัน หรือจะยืนอยู่กันอย่างไร
*** ดูเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ไปดู “ตลาดหุ้น” กันบ้าง หลังจากได้เตือนกันไป ตลาดหุ้นไทยมีปัญหาจากการให้ โรบอต เทรด และการทำช็อตเซลล์ ฟอซเซลล์ ที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน และขาดความเชื่อมั่นไปเยอะ
ผสมผสานหลายปัจจัยทำตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจ การ ฟอร์ซเซลล์ ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่หลายเป็นส่วนน้อยชั่วอึดใจ ถ้าหากมีการทุบหรือทำกันเป็นกระบวนการ ก็อาจสูญเสียกิจการ หรือ เกิดการฮุบกิจการกันได้เลยทีเดียว อันนี้เข้าข่ายไหม ไม่รู้ชัด จะขายเอง (ทิ้ง) หรือถูกบังคับขาย
กรณี YGG ของ ธนัช จุวิวัฒน์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และรั้งประธานกรรมการบริหาร ได้ขายหุ้นของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 จำนวน 203,567,320 หุ้น หรือคิดเป็น 33.82% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทฯ ก่อนทำรายการนี้ ธนัช ถือครองหุ้นจำนวน 247,679,026 หุ้น คิดเป็น 41.143% และ ภายหลังขายล็อตนี้เหลือถือหุ้นจำนวน 25,800,000 หุ้น หรือแค่ 4.286%
*** เริ่มรู้เรื่อง วันก่อน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปปราศรัยกับนักศึกษาสถาบันวิทยาการพลังงาน วพน.รุ่น 20 บอกระยะยาวทิศทางพลังงานของประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065
รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน การแก้กฎหมายให้ราคาพลังงาน มีความยุติธรรม ประชาชนเข้าถึงได้ พลังงานสำคัญมากปัจจุบันการใช้พลังงานทั่วโลก รวมถึงไทย ยังคงเผชิญกับวิกฤตด้านราคา ทั้งจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นข้อจำกัดในการผลิต และจัดหาพลังงาน และการเข้าถึงพลังงาน
*** ว่าด้วยเรื่องพลังงานต้องขอต่ออีกสักนิด วันก่อนปะหน้า ผู้ว่า ศุภชัย เอกอุ่น แห่ง PEA การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอก PEA เพื่อประชาชน เดินหน้าลุยเปลี่ยนมิเตอร์จากระบบจานหมุนที่ใช้ๆ กันอยู่ มาเป็นมิเตอร์ระบบดิจิตอล รันตัวเลขชัดเจนแจ่มชัด ไม่ต้องถกเถียงค่าไฟ หรือ จดมิเตอร์เกินให้บ่นกันอีกต่อไป
แถมมิเตอร์นั้น ตรวจเช็กลิงค์กับมือถือเจ้าของบ้านผ่านระบบบลูธูท ตามเช็กกันได้อีก เห็นว่าเปลี่ยนไปแล้ว 1 ล้านมิเตอร์ ทะยอยๆ ไล่ไปเรื่อย แถมแผนงานชัดเจน ในการแก้ไขไฟฟ้าตก ดับ เจ้าหน้าที่เข้าถึงไว ใส่ใจแก้ไขทันท่วงที พร้อมปรับแนวคิดเจ้าหน้าที่พนักงานกว่า 2 หมื่นคน ให้ใส่ใจบริการเข้าถึงประชาชน อำนวยความสะดวกให้เต็มที่เท่าที่ทำได้และทำทันที
*** ปิดท้ายกันที่ปฏิทินข่าว วันพุธที่ 17 ก.ค. 2567 นี้ เวลา 13.30 น. พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นประธาน ในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี” (GLP) สำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย ระหว่าง โสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ณ ห้องประชุมชั้น 5 กระทรวงแรงงาน